Pages

Long Live The king

Long Live The king

March 14, 2015

13 มูลเหตุทำให้ “เรือแป๊ะ” ล่ม แม้วเชื่อ “บิ๊กตู่” เอาไม่อยู่!

13 มูลเหตุทำให้ “เรือแป๊ะ” ล่ม แม้วเชื่อ “บิ๊กตู่” เอาไม่อยู่!

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
11 มีนาคม 2558 19:06 น.
        นักเศรษฐศาสตร์ยอมรับเศรษฐกิจไทยไร้ทางฟื้น ภายในกำลังซื้อหาย ภายนอกคนซื้อยังไม่ฟื้น แถมแนวทางแก้ปัญหายังบั่นทอนกำลังใจ ด้วยข้อเสนอขึ้นภาษีในรูปแบบต่างๆ จากกระทรวงการคลัง ขณะที่แนวทางการปฏิรูปทั้งพลังงานและศาสนาลดจำนวนคนที่เคยรัก “ประยุทธ์” ลงไปมาก แถมรัฐธรรมนูญใหม่ ทำเอาเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์เห็นตรงกัน “ประชาธิปไตยถดถอย” ชี้ทักษิณไม่ต้องพูดถึง “เรือแป๊ะ” คนรักรัฐบาลนี้ก็ลดลงตามลำดับ
13 มูลเหตุทำให้ “เรือแป๊ะ” ล่ม แม้วเชื่อ “บิ๊กตู่” เอาไม่อยู่!
       
        “วันนี้ทุกคนลงเรือลำเดียวกันแล้ว เหมือนคำโบราณที่ว่า ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ไม่เช่นนั้นจะถูกแป๊ะไล่ลงจากเรือ ก็เลยต้องตามใจแป๊ะ คือเข้าใจในสิ่งที่เขาอยากให้เข้าใจ” คำพูดของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระหว่างบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทของ สนช. กับการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน” เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2557
      
       คำว่า “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” จึงกลายเป็นคำที่หมายถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อยุติการเผชิญหน้ากันของกลุ่มคนที่สนับสนุนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกับกลุ่มที่ต่อต้าน
      
       จนกระทั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บัญชาการทหารบก มีการจัดตั้งรัฐบาลและรับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี สถานการณ์ทางการเมืองยังคงนิ่ง ปราศจากการต่อต้านจากฝ่ายของพรรคเพื่อไทยและผู้สนับสนุน แม้กระทั่งนายใหญ่ผู้ที่กุมเส้นทางการเดินเกมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยอย่างพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร พี่ชายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่คนไทยส่วนใหญ่ต่างรู้กันว่าเขาคือนายกรัฐมนตรีตัวจริงในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต่างนิ่งเงียบหลังจากที่มีการยึดอำนาจ
      
       เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2558 หลังจากที่มีการเผยแพร่ภาพของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ไปพบกับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ฮ่องกง มีข่าวออกมาว่า ทักษิณได้กำชับให้เครือข่ายนักการเมืองและคนใกล้ชิดอยู่นิ่งๆ ปล่อยให้คณะรักษาความสงบหรือรัฐบาลชุดปัจจุบันบริหารงานไป โดยเชื่อว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ก็ทำให้รัฐบาลชุดนี้กำลังแย่ และมีเรื่องของการปฏิรูป การแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก เชื่อว่าจะเกิดกระแสต่อต้านมากกว่ายอมรับ
      
       นับเป็นการออกมาคาดการณ์ถึงสถานะของรัฐบาลชุดปัจจุบันว่าจะได้รับความนิยมลดน้อยลงทุกขณะ ไม่ต้องทำอะไร สุดท้ายเรือแป๊ะลำนี้จะล่มไปเอง
      
       ทักษิณพูดไม่ผิด
      
       “สิ่งที่อดีตนายกฯ ทักษิณพูดไว้ ก็ไม่ได้ผิด เพราะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในเวลานี้ไม่ดีจริงๆ” นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 2 แห่งประเมินตรงกัน พร้อมทั้งขยายความว่า
      
       ทั้งหมดเป็นผลต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากที่เกิดวิกฤตทางการเมืองมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2556 ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2557 โตเพียง 0.7% ในปีนี้แม้สถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลาย แต่ปัจจัยแวดล้อมด้านอื่นๆ ยังไม่ดีขึ้น
      
       ปัจจัยในประเทศ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจากภาวะตลาดโลก เกษตรกรมีรายได้ลดลง อีกทั้งราคาสินค้าและบริการยังอยู่ในระดับสูง จากการปรับขึ้นไปก่อนหน้าทั้งจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทและนโยบายจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาดของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ และไม่ได้ปรับลดลงมาแม้ราคาน้ำมันทั้งตลาดโลกและในประเทศจะปรับตัวลงมาแล้วก็ตาม
      
       ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้นทั้งจากโครงการรถยนต์คันแรกและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้แต่ละครัวเรือนมีหนี้เพิ่มขึ้น ฉุดให้กำลังซื้อของคนในประเทศลดต่ำลง อีกทั้งการลงทุนจากภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังรอความชัดเจนจากรัฐบาลปัจจุบันว่าจะมีมาตรการใดออกมากระตุ้น แต่ส่วนใหญ่ยังรอที่จะตัดสินใจในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ
      
       ส่วนปัจจัยต่างประเทศยังเป็นเรื่องเดิมคือคู่ค้าของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป จีนและญี่ปุ่น เศรษฐกิจของแต่ละชาติยังคงไม่ฟื้นตัว ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าจากไทยลดลง เห็นได้จากยอดส่งออกเดือนมกราคม 2558 ติดลบ 3.46%
13 มูลเหตุทำให้ “เรือแป๊ะ” ล่ม แม้วเชื่อ “บิ๊กตู่” เอาไม่อยู่!
       
        เศรษฐกิจฝืดทุกชนชั้น
      
       นักเศรษฐศาสตร์อีกรายกล่าวว่า ตอนนี้คนบ่นกันมากเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ทั้งผู้ประกอบการที่เคยให้การสนับสนุนการเข้ามายุติปัญหาทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เนื่องจากยอดขายสินค้าและบริการที่ไม่กระเตื้องขึ้น กลุ่มรากหญ้าเจอกับปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่วนคนชั้นกลางที่กำลังซื้อขายไปในระดับหนึ่งจากเรื่องค่าครองชีพและการใช้สิทธิ์รถคันแรก กำลังเผชิญกับเรื่องของภาษีที่รัฐบาลนี้ผุดไอเดียเก็บภาษีเป็นว่าเล่น จะเห็นได้ว่าทุกกลุ่มต่างเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจกันทุกชนชั้น
      
       กำลังซื้อที่หายไปจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ยิ่งมาเจอกับแผนในการหารายได้ของรัฐบาลด้วยการจัดเก็บภาษีเพิ่ม ยิ่งทำให้ความรู้สึกของผู้คนแย่ลงตามไปอีก
      
       ในมิติด้านการบริหารการคลัง รายได้ของประเทศหายไปจากภาคการส่งออก เข้าใจได้ว่ารัฐบาลต้องพยายามหารายได้จากส่วนอื่นเข้ามาชดเชย ตอนนี้กระทรวงการคลัง ท่านรัฐมนตรีมาจากข้าราชการประจำ แนวคิดจึงมุ่งไปในทางที่ง่ายที่สุดคือการเรียกเก็บภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ โดยเฉพาะภาษีบ้าน ทำให้หลายคนกังวล แต่วิธีการขึ้นภาษีเพียงอย่างเดียวยิ่งจะเป็นผลร้ายต่อกำลังซื้อของคนในประเทศ
      
       ภายใต้สถานการณ์ในขณะนี้ใครเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องเจอปัญหาด้านเศรษฐกิจทั้งสิ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้กับรัฐไม่ได้มีเพียงแค่การขึ้นภาษีเพียงอย่างเดียว การลดภาระให้กับประชาชนและกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศมาทดแทนภาคการส่งออกที่ทรุดตัวลงก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่รัฐพึงกระทำ
      
       เปรียบเทียบกับการยึดอำนาจในปี 2549 จากรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร โดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้นเศรษฐกิจโลกยังดีกว่าในปัจจุบัน และพลเอกสนธิเข้ามายึดอำนาจไม่นานก็เปิดให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาบริหารประเทศ แม้จะทำอะไรไม่ได้มากนัก แต่เศรษฐกิจโลกไม่ได้ย่ำแย่ อีกทั้งสหรัฐฯ ยังออกมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบทำให้สินค้าออกของไทยยังไม่อยู่ในสถานการณ์เลวร้าย
      
       เมื่อทุกอย่างเริ่มกระทบเงินในกระเป๋า กระทบปากท้องและการดำรงชีพของผู้คนให้ลำบากมากขึ้น ย่อมเป็นธรรมดาที่คนที่เคยเชียร์หรือสนับสนุน จะเชียร์น้อยลง
13 มูลเหตุทำให้ “เรือแป๊ะ” ล่ม แม้วเชื่อ “บิ๊กตู่” เอาไม่อยู่!
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เดินหน้าผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
       
        ปฏิรูปเหลว-แก้รัฐธรรมนูญถูกต้าน
      
       ขณะเดียวกันมิติด้านการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อต้องการสร้างกติกาใหม่สำหรับการเมืองในรุ่นต่อไป แนวทางในการลดอำนาจของตัวนายกรัฐมนตรีและการเลือกตั้งที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการในเวลานี้ เริ่มมีเสียงคัดค้านจากนักการเมืองที่จะต้องเดินตามกติกาใหม่มากขึ้นทุกขณะ
      
       เห็นได้จากพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์วิพากษ์รัฐธรรมนูญ 2558 แสดงความไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของการเลือกตั้งในรูปแบบใหม่ ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตดังนี้
      
       1.รัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำขึ้น สะท้อนความไม่น่าเชื่อถือ ไม่ไว้วางใจ ไม่เคารพประชาชนและยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน
      
       เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด วาระ 6 ปี มีอำนาจทั้งเสนอกฎหมาย ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สรรหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ถอดถอน ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ถอดถอนนายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รวมทั้งให้ความเห็นชอบผู้จะเป็นรัฐมนตรี
      
       ร่างรัฐธรรมนูญนี้เปิดทางให้ “ผู้ที่ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ได้ ย้อนยุคไปสู่ระบบก่อนพฤษภาทมิฬ 2535 ทำให้เสียงของประชาชนไม่มีความหมาย
      
       เท่ากับทำลายเจตนารมณ์พื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นการยึดอำนาจอธิปไตยทั้งหมดของประชาชน ทำลายกลไกการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญของ ส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
      
       2.รัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำขึ้น ทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ นายกรัฐมนตรีไม่มีภาวะความเป็นผู้นำ รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาของประชาชน
      
       นอกจากนี้ยังเปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นแบบสัดส่วนผสม ระบบเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้ได้รัฐบาลผสมหลายพรรค มีพรรคเล็ก พรรคน้อย ผสมกับกลุ่มที่ไม่ใช่พรรค เกิดรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ และการลดจำนวน ส.ส.เขตเหลือเพียง 250 คน (จากเดิม 400 คนในปี 2540 และ 375 คนในปี 2550) จะส่งผลให้เขตเลือกตั้งมีขนาดใหญ่และกว้างมากเกินไป ทำให้ผู้แทน 1 คนต้องดูแลประชาชนถึง 260,000 คน
      
       ในส่วนของข้อกำหนดให้ ส.ส. ไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค/หาก ส.ส.สามารถลงมติไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่พรรครัฐบาลนำเสนอต่อประชาชนในช่วงการเลือกตั้ง การนำนโยบายนั้นไปทำให้เกิดผลก็เป็นไปไม่ได้
      
       รวมไปถึงการลดอำนาจของรัฐบาลด้วยการมีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม ซึ่งรัฐบาลไม่ได้แต่งตั้งมาดำเนินการ ทำให้รัฐบาลไม่มีอำนาจในการบริหารงานบุคคล
      
       3.รัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำขึ้น เป็นร่างที่มีปัญหา จากผู้ร่างที่ไม่ได้มาจากประชาชน
      
       ขณะเดียวกันยังกำหนดขั้นตอนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยากขึ้น ประกอบด้วยการกำหนดให้คะแนนเสียงเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา จากเดิมที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาเท่านั้น
      
       ขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงและเบ็ดเสร็จ เพราะเมื่อผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อนว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมได้หรือไม่ ทางพรรคเพื่อไทยมองว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจเหนือรัฐสภา
      
       ประการสุดท้าย การลงประชามติเมื่อผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ อีกชั้นหนึ่ง
      
       นอกจากนี้ การเสนอให้ตั้ง “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ” ซึ่งล้วนมีที่มาจาก สนช. สปช. เป็นประเด็นในร่างฯ ที่มีนัยสำคัญของการสืบทอดอำนาจ เพื่อมากำกับควบคุมรัฐบาลในอนาคตเช่นนี้แล้ว สิ่งที่ดำเนินอยู่ น่าจะไม่ใช่หนทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างที่ทุกคนคาดหวัง
13 มูลเหตุทำให้ “เรือแป๊ะ” ล่ม แม้วเชื่อ “บิ๊กตู่” เอาไม่อยู่!
พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2558
       
        ประชาธิปัตย์มองไม่ต่างเพื่อไทย
       
       ไม่แตกต่างจากนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ ที่มองว่าการร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ถือว่าเป็นการทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง โดยเฉพาะเรื่องของการเลือกตั้ง ที่จริงแล้วตัวรัฐธรรมนูญไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากคนที่ใช้รัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวมองว่าการทำงานของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสอบตก การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถือเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน เนื่องจากระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ ต่อไปจะเกิดรัฐบาลผสม พรรคเล็กจะมีอำนาจมาก ปัญหาในลักษณะนี้จะหนักยิ่งกว่าในยุคก่อน
       
       ขณะที่งานด้านการปฏิรูปนั้นยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อาจมีเพียงการปฏิรูปด้านพลังงานที่มีการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันลง ทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลง แต่ราคาแก๊สก็ปรับขึ้น ส่วนด้านอื่นๆ ดำเนินการได้ช้ามาก
       
       ยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้คงทำอะไรไม่ได้มากนัก เนื่องจากเจอปัญหาด้านเศรษฐกิจในหลายด้าน แต่เชื่อว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาด้านการปฏิรูปและเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนอาจมีผู้ไม่เห็นด้วยมากขึ้นนั้น คงไม่ทำให้รัฐบาลชุดนี้ต้องปิดฉากตัวเองก่อนกำหนด เชื่อว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงทำตามโรดแมปที่วางไว้ คือคืนอำนาจให้กับประชาชนและให้มีการเลือกตั้งในปี 2559
       
       คนเคยหนุนเริ่มไม่หนุน
       
       ด้านนักวิชาการอีกรายยอมรับว่า สิ่งที่อดีตนายกฯ ทักษิณพูดไว้นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้บีบบังคับ เมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจได้ แถมวิธีแก้ปัญหาของรัฐบาล โดยเฉพาะในส่วนของทีมเศรษฐกิจที่เสนอแต่ขึ้นภาษีในเวลานี้ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ เพิ่มรายจ่ายของคนให้มากยิ่งขึ้น คนที่เคยรักเคยชอบรัฐบาลชุดนี้ คงชอบต่อไปไม่ลง
       
       ด้านการปฏิรูปนั้น อย่างด้านพลังงาน แม้จะทำให้ราคาน้ำมันลดลง แต่ก็ยังมีปมขัดแย้งในเรื่องการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แม้จะมีการชะลอไป แต่กลุ่มคนที่เคยสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ก็ออกมาคัดค้านในเรื่องดังกล่าว และยังจับตาการทำงานของรัฐบาลต่อไป ส่วนการปฏิรูปด้านศาสนาที่เข้าไปแตะต้องวัดพระธรรมกาย ก็เริ่มเกิดปฏิกิริยาความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ จนสุดท้ายต้องมีการยุบคณะกรรมการชุดดังกล่าวไป
       
       นี่คือการดำเนินการด้านการปฏิรูปเพียง 2 ด้าน ที่ทำให้คนที่เคยสนับสนุนการเข้ามายุติปัญหาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติลดการสนับสนุนลงไปไม่น้อย ขณะที่การปฏิรูปด้านอื่นๆ ยังไม่มีด้านใดที่คืบหน้า
       
       เช่นเดียวกัน เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เวลานี้เราได้เห็นความเห็นที่คล้ายกันของ 2 พรรคการเมืองใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ที่เคยมองแตกต่างกัน เวลานี้กลับมองในทิศทางเดียวกันคือ เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทำให้มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากกติกาใหม่ของรัฐธรรมนูญ ทำให้อำนาจของนักการเมืองหายไปจากเดิมมาก
       
       “ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่ยังไร้มาตรการที่จะเข้ามากระตุ้น ผลกระทบจากการปฏิรูปในด้านต่างๆ และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น ย่อมทำให้คนที่ชื่นชมการทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมลดลงไปตามลำดับ แม้คุณทักษิณไม่พูดแต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นจึงการบ้านที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ต้องนำไปปรับปรุงแก้ไข” 

http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000028923