Pages

Long Live The king

Long Live The king

January 10, 2013

10 สัญญาณที่บอกว่า..กำลังใกล้ตาย

10 สัญญาณที่บอกว่าคุณหรือเขากำลังใกล้ตาย​​/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์10 มกราคม 2556 

       ไม่มีใครสามารถพยากรณ์ถึงวันตายของตนเองได้ แต่ทั้งแพทย์และพยาบาลผู้ที่มีประสบการณ์กับคนไข้ที่ใกล้ตายเกือบจะทุกวันสามารถบอกถึงอาการของคนไข้ที่เริ่มหมดอายุขัยได้ อาการดังกล่าวเหล่านี้ เป็นอาการของวัยที่เสื่อมสภาพ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องมีอาการทั้งหมดดังที่จะกล่าวถึงนี้ แต่อาจจะมีอาการดังกล่าวรวมกัน 4-5 ข้อ ดังจะกล่าวต่อไปนี้
       1.เบื่ออาหาร ร่างกายของคนเราต้องการพลังงานเพื่อขับเคลื่อนต่อไป หากมีใครปฏิเสธอาหาร หรือน้ำ หรือทานอาหารได้ในปริมาณน้อย เช่น กินแค่ข้าวต้มถ้วยเล็กๆ ไม่ยอมทานเนื้อสัตว์ แม้ว่าจะเป็นอาหารโปรดที่เคยชอบทานก็ไม่อยากแตะ นั่นหมายถึงอาการของความตายเริ่มเข้ามาเยือนแล้ว คนส่วนใหญ่ที่ร่างกายเสื่อมสภาพ มักมีปัญหาเรื่องการกลืนอาหาร วิธีช่วยอาจทำได้โดย อย่าบังคับให้ทานอาหาร แม้ว่าผู้ดูแลอาจรู้สึกเครียดที่ญาติ หรือคุณพ่อ คุณแม่ไม่สามารถทานอาหารได้ แต่ใช้วิธีเสริมกำลังใจ หรือให้ทานไอศกรีม หรือจิบน้ำ หรือน้ำแข็ง ใช้ผ้าอุ่นๆ เช็ดบริเวณริมฝีปาก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นและผ่อนคลาย
      
       2.เหนื่อยง่ายและต้องการนอนมากกว่าปกติ คนไข้ที่เริ่มนอนในเวลากลางวันและกลางคืนเป็นเวลานาน มีการไหลเวียนของโลหิตน้อยลง และปฏิเสธไม่ทานอาหารและน้ำ และเริ่มขาดน้ำ ไม่สามารถตื่นและทำกิจกรรมได้ตามปกติ เริ่มเหนื่อย อ่อนเพลีย และเลื่อนลอย วิธีช่วยอาจทำได้โดย ให้นอนและหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนที่ทำให้ตื่น เมื่อคนไข้อยู่ในภาวะไม่รู้สึกตัว หรือโคม่าให้พูดคุยเหมือนคนไข้ได้ยินถึงแม้ว่าคนไข้จะไม่มีอาการตอบสนองก็ตาม
      
       3.ร่างกายอ่อนแอไม่อยากเคลื่อนไหว เมื่อร่างกายเริ่มปฏิเสธอาหารทำให้ขาดพลังงานและนำไปสู่ความอ่อนแอ แทบไม่อยากจะยกศีรษะในขณะที่นอนและมีปัญหาการดื่มน้ำจากหลอด วิธีช่วยอาจทำได้โดย ทำให้คนไข้นอนในท่าที่สะดวกสบายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
      
       4.สับสนและหลงลืม นอกจากอวัยวะเริ่มเสื่อมสภาพแล้ว สมองที่เคยทำงานได้อย่างดีก็เริ่มจำอะไรไม่ค่อยได้ ความทรงจำที่เหลือคือความฝังใจที่สดชื่นหรือขมขื่นในอดีต คนไข้อาจจำไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหน จำชื่อคนอื่นไม่ได้ อาจพูดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือเหลวไหล สับสนเรื่องเวลา หรือจำไม่ได้ว่าทานอาหารหรือยัง วิธีช่วยอาจทำได้โดยช่วยเตือนความจำด้วยความใจเย็น และพูดกับคนไข้ด้วยเสียงอ่อนโยน และบอกชื่อของตัวเองให้คนไข้ทุกครั้งที่พบกัน เพื่อคนไข้จะจำได้
      
       5.หายใจลำบาก การหายใจเข้าออกไม่สม่ำเสมอ ติดขัด และยากลำบาก เวลาหายใจสามารถได้ยินเสียงดังและหายใจเข้าลึก มีอาการหอบ หรือมีการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ หยุดหายใจประมาณ 5 วินาที หรือนานถึง 1 นาที ก่อนจะหายใจแรงและลึกอีกครั้งและค่อยๆ หายไปอีก บางครั้งหายใจเข้าออกดังครืดคราด วิธีช่วยอาจทำได้โดย เตือนผู้เฝ้าไข้ให้ระวังและใส่ใจสังเกตอาการเหล่านี้ โดยพยายามให้คนไข้อยู่ในท่าที่สบายที่สุด นั่งในที่ที่สบาย หรือตั้งศีรษะให้อยู่ในที่ผ่อนคลาย หายใจสะดวก เช็ดริมฝีปากด้วยผ้าเปียก หรือทาลิปมันเพื่อช่วยให้ริมฝีปากสดชื่น หากมีเสมหะมากให้ขับออกโดยธรรมชาติ ในกรณีที่ไม่มีเครื่องดูดเสมหะ การใช้เครื่องช่วยหายใจอาจช่วยได้ 
      
       6.ไม่เข้าสังคม เมื่อร่างกายเริ่มหมดสภาพ ผู้ที่ใกล้ตายจะหมดความสนใจกับสิ่งรอบตัว บางครั้งอาจพูดน้อยลง บ่นพึมพำ สมองทำงานไม่ฉับไว ไม่ตอบสนองต่อคำถาม หรืออาจจะเดินหนีไป ก่อนที่อาการไม่สุงสิงกับผู้คนจะเริ่มขึ้น บางครั้งคนที่ใกล้ตายอาจจะทำให้คุณประหลาดใจโดยแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เราตื่นตกใจได้ สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นไม่ถึงชั่วโมงหรืออาจทั้งวันก็ได้ วิธีช่วยอาจทำได้โดย ใช้เราเฝ้าสังเกตอาการเหล่านี้ และใช้วิธีสัมผัส ลูบเบาๆ ที่แขน พูดคุย เมื่อคนไข้เริ่มจำได้ถึงความหลังเก่าๆ ให้รีบตอบสนองทางบวกทันที เพราะความจำเหล่านี้อาจจะหายไปในพริบตา
      
       7.การเปลี่ยนแปลงเรื่องการถ่ายปัสสาวะ ในขณะที่ผู้ป่วยไม่สนใจเรื่องการทานอาหารและการดื่ม ทำให้การขับถ่ายน้อยลงด้วย ความดันเลือดต่ำ เป็นขั้นตอนหนึ่งของผู้ที่กำลังสูญเสียชีวิต เมื่อถึงจุดนี้อาจไม่มีอะไรที่จะช่วยได้ และอาจมีอาการอย่างอื่นที่พอสังเกตเห็นด้วยเช่น ไตเริ่มไม่ทำงาน ให้สังเกตการถ่ายปัสสาวะ เมื่อเป็นสีน้ำตาล แดงหรือสีชา การสูญเสียการควบคุมปัสสาวะอาจเป็นอาการสุดท้ายของผู้ที่กำลังจะตาย วิธีช่วยอาจทำได้โดย บางครั้ง ทางการแพทย์อาจตัดสินใจใช้การช่วยระบายของเสียออกจากร่างกาย ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ถึงชั่วโมงสุดท้ายของชีวิต แต่การมีไตที่ไม่ทำงานจะทำให้โลหิตเป็นพิษและอาจส่งผลให้เข้าสู่โคม่าก่อนเสียชีวิต
      
       8.บวมที่เท้าและตามข้อต่อ เมื่อไตไม่สามารถฟอกเลือดได้ จะทำให้ไปสะสมในอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น หัวใจ โดยเฉพาะข้อต่อและขา อาจเป็นบริเวณมือ หน้าและเท้ามีอาการบวมน้ำได้ วิธีช่วยอาจทำได้โดย เมื่อถึงขั้นนี้ปกติจะไม่มีการช่วยเหลืออะไรเป็นพิเศษ เพราะอาการบวมไม่เป็นสาเหตุของโรค แต่เป็นเพราะอาการชรา และการเสื่อมสภาพของร่างกาย
      
       9.มือและเท้าเย็น หนึ่งชั่วโมงหรือ 2-3 นาทีก่อนเสียชีวิต ผู้ป่วยมักมีอาการมือและเท้าเย็นเนื่องจากเลือดไม่ไปเลี้ยงตามปลายประสาท ดังนั้น นิ้วมือ นิ้วเท้าจะเย็น เล็บอาจมีสีจาง หรือสีน้ำเงิน วิธีช่วยอาจทำได้โดย ห่มผ้าห่มอุ่นๆ ให้คนไข้เพื่อให้สบายตัวขึ้น
      
       10.เส้นโลหิตดำเป็นลายพร้อย หรือกระด่างกระดำ ผิวหนังมีรอยดวง ด่างดำ ซีดหรือมีแต้มสีแดง สีน้ำเงินขึ้นเป็นจุดๆ เป็นอาการของผู้ที่จะเสียชีวิต สิ่งนี้เป็นผลจากการไหลเวียนหิตที่ล้มเหลว อาจปรากฏให้เห็นก่อนตามบริเวณเท้า
      
       สัญญาณของผู้ใกล้เสียชีวิตแต่ละคนนั้น อาจมีขั้นตอนที่แตกต่างกันไป สิ่งที่เขียนข้างบนนี้เป็นเพียงการให้ความรู้กับผู้อ่านในการสังเกตทั้งผู้ป่วยและคนชราที่อยู่ใกล้ตัวท่าน ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านดูแลผู้ที่กำลังจะสูญเสียชีวิตด้วยความรัก ความเมตตาและความอดทนจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเขา เพื่อที่คุณจะไม่ต้องมารู้สึกเสียใจในภายหลัง
      
       ข้อมูลอ้างอิงhttp://www.caring.com

January 04, 2013

พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม




...พระศรีศากยมุนี เป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ นับเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในยุคก่อน 25 พุทธศตวรรษ เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ สุโขทัย สร้างสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ให้อัญเชิญมายังกรุงเทพ ฯ ได้ทรงมีพระราชดำริจะสร้างพระอาราม ที่มีพระวิหารใหญ่อย่างวัดพนัญเชิงที่อยุธยา โดยประดิษฐานไว้กลางพระนคร เมื่อชลอพระศรีศากยมุนีมาถึงกรุงเทพ ฯ แล้วให้ประทับท่าสมโภช 7 วัน แล้วจึงทรงชักเลื่อนองค์พระทางสถลมารค และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินตามขบวนแห่พระในรัชสมัยของพระองค์ ทำได้เพียงอัญเชิญองค์พระขึ้นตั้งไว้ ตัววิหารลงมือสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ตรงใต้ฐานที่ผ้าทิพย์บรรจุพระบรมอัฐิของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8)

ส่วนด้านหลังบัลลังก์พระพุทธรูปมีแผ่นศิลาสลัก เป็นศิลปะแบบทวารวดี เป็นรูปสลักปิดทอง ปางยมกปาฏิหาริย์ และ ปางประทานเทศนาในสวรรค์ เป็นของเก่าและหาดูได้ยาก เข้าใจว่าจะมีอยู่เพียงชิ้นเดียวในโลก

January 03, 2013

Fiscal Cliff

หน้าผาทางการคลังคืออะไร (Fiscal cliff) ?

สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญในระยะนี้และคาดว่าน่าจะต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี คือ ความกังวลที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะตก "หน้าผาทางการคลัง" (Fiscal cliff) คำถามก็คือ อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าหน้าผาทางการคลัง และเหตุใดจึงกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกต้องจับตามอง

หน้าผาทางการคลัง คือ การที่เศรษฐกิจของประเทศสูญเสียแรงขับเคลื่อนทางการคลังอย่างฉับพลันและรุนแรง เนื่องจากมาตรการด้านการคลังชั่วคราวที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่เกิดวิกฤตินั้นสิ้นสุดลง ยิ่งมาตรการนั้นๆ มีขนาดใหญ่มากเท่าไร เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของมาตรการก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจสูญเสียแรงส่งมากขึ้นเท่านั้น และนั่นหมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจถูกฉุดให้ลดต่ำลงหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอยก็เป็นได้ ดังนั้นเหตุการณ์เช่นนี้จึงเปรียบเสมือนกับว่าเศรษฐกิจ "ตกหน้าผาทางการคลัง"



หน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ สูงขนาดไหน ?

ปัจจุบันสหรัฐฯ มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ค่อนข้างสูงถึงราว 100% ของ GDP และมีการขาดดุลงบประมาณสูงถึงราว 9.5% ของ GDP ในปี 2011 ทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการตัดงบประมาณอัตโนมัติ หรือที่เรียกกันว่า "Sequestration" ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายทางด้านการคลังของสหรัฐฯ ลงปีละราว 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยการตัดลดรายจ่ายนี้กำลังจะเริ่มต้นในปี 2013

นอกจากนี้ภายในสิ้นปี 2012 ยังมีมาตรการกระตุ้นทางการคลังชั่วคราวอีกจำนวนมากที่กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลา โดยส่วนที่น่ากังวลมากที่สุดคือการสิ้นสุดระยะเวลาการตัดลดภาษีเงินได้ (Payroll-tax cut) ซึ่งเริ่มมีขึ้นในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เมื่อปี 2001 และปี 2003 การสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากประชาชนในปี 2013 รวมทั้งสิ้นราว 180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีมาตรการชั่วคราวอื่นๆ อย่างเช่น การให้เครดิตภาษีการลงทุน (Investment tax credit) และการเพิ่มเงินสวัสดิการสำหรับผู้ว่างงาน (Jobless benefits) ที่กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาพร้อมกันในวันที่ 31 ธันวาคม 2012 นี้เช่นเดียวกัน หลังจากที่เคยได้ขยายระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2010

ทั้งนี้เมื่อคำนวณผลรวมของภาษีและการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ลดลงไป ทำให้ตัวเลขการขาดดุลการคลังของรัฐบาลระหว่างปีงบประมาณ 2012 และปี 2013 ลดลงราว 607 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4% ของ GDP1 ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2013 นั้นอยู่ที่เพียงราว 2.2% ทำให้หลายฝ่ายกังวลกันว่า "การตกหน้าผาทางการคลัง" ครั้งนี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจถดถอยได้



สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้คืออะไร และจะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ทัน?

เนื่องจากวันสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราวอยู่หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ แค่เพียงไม่ถึง 2 เดือน จึงมีโอกาสที่รัฐบาลที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งจะไม่สามารถดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงการตกหน้าผาทางการคลังได้ทันเวลา กล่าวคือ สภา Congress อาจไม่สามารถเลื่อนหรือขยายเวลาบางมาตรการออกไปได้ทันภายในเวลา 2 เดือน หรืออาจไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการปล่อยให้ภาคการคลังหดตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรงในช่วงต้นปี 2013 ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาสภา Congress ได้เคยล้มเหลวในการตกลงการลดการใช้จ่ายและเพิ่มเพดานหนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ทำให้มีโอกาสที่ครั้งนี้จะประสบความล้มเหลวซ้ำรอยอีกครั้ง นอกจากนี้นโยบายของทั้ง 2 พรรคการเมือง (Democrat และ Republican) ในเรื่องการคลังยังมีความแตกต่างกันมาก ทำให้จนถึงบัดนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าสหรัฐฯ จะมีวิธีการรับมือกับปัญหาที่รออยู่ข้างหน้าอย่างไร

ถ้าหากรัฐบาลไม่สามารถนำพาเศรษฐกิจของประเทศหนีจากการตกหน้าผาทางการคลังได้ทัน อาจมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มแรงส่งให้แก่เศรษฐกิจ อย่างเช่นมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินคงไม่สามารถชดเชยการหดตัวทางการคลังในครั้งนี้ได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การใช้จ่ายในประเทศ (Domestic demand) จะลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริโภคภาคเอกชน เนื่องจากภาษีเงินได้ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การใช้จ่ายภาครัฐก็ลดลงตามโปรแกรม Sequestration ด้วยเช่นกัน



ผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างไร? 

ไม่ว่าผลสุดท้ายแล้วสหรัฐฯ จะสามารถหลีกเลี่ยงการตกหน้าผาทางการคลังได้หรือไม่ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า เพราะหากพิจารณากรณีที่รัฐบาลสามารถขยายระยะเวลามาตรการลดภาษี หรือตัดค่าใช้จ่ายออกไปได้อีกครั้ง อาจจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงได้ เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับสูงและไม่ได้ลดลง ซึ่งการลดอันดับความน่าเชื่อถืออาจทำให้เงินไหลออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ไปยังประเทศอื่นที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดีกว่าได้ และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง

ในทางกลับกัน หากสหรัฐฯ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการหลีกเลี่ยงหน้าผาทางการคลังได้ จะเป็นความเสี่ยงให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย และมีโอกาสที่เฟดจะใช้มาตรการ QE3 มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนลงและส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคอื่นแข็งขึ้น รวมถึงเอเชีย และค่าเงินบาท

ระหว่างการรอลุ้นผลสรุปว่าสหรัฐฯ จะมีวิธีการจัดการกับหน้าผาทางการคลังนี้อย่างไร ตลาดการเงินอาจมีความผันผวนเป็นระยะจากความกังวล เช่นเดียวกับความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตลาดการเงินโลกรวมถึงประเทศไทยผันผวนมากในช่วงครึ่งปีแรก และถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวแรง หรือถดถอยจริงก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออก ความเชื่อมั่นการบริโภค และการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขอบคุณ.. ข้อมูลนิตยสารการเงินการธนาคาร ..

ไหว้พระ9วัด