Pages

Long Live The king

Long Live The king

September 25, 2013

“ธวัชชัย แสงธรรมชัย” จาก “รู้ สู้! Flood” สู่บริษัทโฆษณาเพื่อสังคม

หากยังจำกันได้ เมื่อครั้งเกิดวิกฤตภาวะน้ำท่วมปี 2554 ท่ามกลางความสับสนอลหม่านกับข้อมูลการสื่อสารจากภาครัฐ มีบุคคลอยู่กลุ่มหนึ่งที่ผลิตสื่อสร้างสรรค์ชื่อ “รู้ สู้! Flood” ในรูปแบบของวิดีโออนิเมชัน โดยมีวาฬเป็นสัญลักษณ์ เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าใจที่มาที่ไปของน้ำท่วม การรับมือและการอยู่ร่วมกับน้ำท่วม รวมไปถึงบทบาทของตัวเองและการฟื้นฟูภายหลังน้ำท่วม จนกลายเป็นที่รู้จักและแพร่หลายอย่างรวดเร็วในโซเชียลเน็ตเวิร์ก
ธวัชชัย แสงธรรมชัย
        ธวัชชัย แสงธรรมชัย” หรือ “อู๋” อดีตครีเอทีฟโฆษณา หนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ช่วยกันผลิตสื่อดังกล่าว จนหลายคนจดจำภาพลักษณ์ของการเป็นจิตอาสาที่ออกมาทำงานเพื่อสังคม แม้ปัจจุบัน “ธวัชชัย” จะเปิดบริษัทเอเยนซีโฆษณาและสื่อประชาสัมพันธ์ของตัวเองในนาม “วาย น็อต โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์” แต่ก็ยังไม่ลืมไว้ลายที่จะดำเนินกิจการในแบบเพื่อประโยชน์ของสังคมด้วย
      
       ที่เป็นเช่นนั้น เพราะการดำเนินกิจการของบริษัทนี้ จะไม่รับลูกค้าที่เป็นบริษัทที่ต้องการทำการตลาดเพื่อขายสินค้าเหมือนสมัยที่เป็นครีเอทีฟอยู่ในบริษัทโฆษณา แต่รับเฉพาะลูกค้าที่เป็นกลุ่มองค์กรที่สร้างสรรค์สังคมและทำงานเพื่อสังคมเท่านั้น เช่น มูลนิธิ เอ็นจีโอ หน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานด้านนี้
      
        ตอนที่เป็นครีเอทีฟในบริษัทโฆษณา ความสุขความสำเร็จในการทำงานคือตัวเงิน แต่ถึงวันหนึ่งก็มาถามตัวเองว่าสิ่งนี้เป็นความสุขสำหรับเราจริงหรือเปล่า เพราะสุดท้ายต่อให้เราทำโฆษณาได้เจ๋งสุดยอด ช่วยให้บริษัทขายสินค้าได้มากมาย สิ่งทีที่เราได้ตอบแทนก็คือตัวเงิน แต่มันยังไม่ใช่ความสุขที่สุด ซึ่งผมก็ได้ค้นพบว่า ผมมีความสุขตอนที่ศักยภาพในการทำงานของเราเป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้” ธวัชชัย เล่าถึงจุดพลิกผันในการลาออกจากครีเอทีฟบริษัทโฆษณาเพื่อมาทำงานด้านสังคม
      
        แม้จะออกมาทำงานเพื่อสังคม แต่สิ่งที่ “ธวัชชัย”ถนัดก็คืองาน “โฆษณา” จึงเลือกทำโฆษณาที่สร้างสรรค์สังคม จากเดิมปกติที่ต้องทำงานกับลูกค้า จึงหันมาทำงานกับกลุ่มองค์กรเพื่อสังคมแทน ซึ่งครั้งนี้ “ธวัชชัย” ไม่ขอเรียกว่าเป็นลูกค้า แต่ขอเรียกว่าเป็นพาร์ทเนอร์ในการทำงานร่วมกันแทน
      
        ที่เลือกทำโฆษณาให้แก่กลุ่มองค์กรที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม เพราะเมื่อพูดถึงงานเพื่อสังคมคนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่ามันดูเข้าถึงยาก น่าเบื่อ ดูจน เนื่องจากไม่เคยถูกทำเป็นโฆษณาให้น่าสนใจเหมือนบริษัทที่ขายสินค้าและบริการทั่วไป เพราะมีทรัพยากรจำกัด จึงยังเข้าไม่ถึงมวลชนมากนัก แต่จากการทำงานด้านนี้ทำให้เห็นว่าโฆษณามีพลังที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้ ทำให้คนที่รับชมโฆษณาพร้อมจ่ายเงินซื้อสินค้าในสิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิตได้ หากสามารถนำงานเพื่อสังคมมาบอกเล่าผ่านสิ่งที่ทรงพลังอย่างโฆษณาได้ เชื่อว่าเรื่องดีๆ ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นในสังคมได้อีกมาก เพราะสิ่งที่เขาทำเพื่อสังคมมันมีผลกระทบในเชิงสื่อสารมากขึ้น
      
        สำหรับขอบข่ายงานที่ “ธวัชชัย” ทำมีทั้งที่คิดโฆษณาออกมาเป็นชิ้นเลย วางแผนการผลิตสื่อ เป็นที่ปรึกษาให้แก่องค์กรเพื่อสังคมต่างๆ ในการที่จะคิดให้เองว่างานนี้ควรที่จะทำสื่อประเภทไหนอย่างไรให้เหมาะสม ซึ่งผลงานที่ผ่านมาก็มีทั้งตลาดนัดจิตอาสาในโครงการคนไทยขอมือหน่อย โครงการสุขภาพคนพิการ และแรงงานนอกระบบ เป็นต้น
      
        อย่างไรก็ตาม แม้ “ธวัชชัย” จะเปิดบริษัทโฆษณาที่ทำงานเพื่อสังคม แต่ไม่อยากให้คนทั่วไปติดภาพลักษณ์ว่า การทำงานเพื่อสังคมเป็นการทำความดีที่ทำแล้วต้องถูกต้องเสมอและดีที่สุดเสมอ
      
       ธวัชชัย ให้เหตุผลว่า ความดีเป็นเรื่องส่วนบุคคลและมีความเป็นนามธรรมมากๆ ส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงการทำความดีแล้ว คนจะนึกถึงการช่วยเหลือกัน เป็นงานจิตอาสาที่ว่างเมื่อไรก็ค่อยมาทำ และปัญหาคือมักจะคิดว่าคนที่ทำความดีจะต้องเป็นคนดี ทำอะไรถูกต้องและดีที่สุดเสมอ ซึ่งคิดว่าคนไทยควรที่จะต้องหลุดออกมาจากกรอบนามธรรมของความดี ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่าบริษัททำโฆษณาสร้างสรรค์สังคมให้กับองค์กรหนึ่ง หากทำได้ดีก็ต้องบอกว่าดี หากทำออกมาได้ห่วยก็ต้องต่อว่า ก็ต้องบอกว่าห่วย ไม่ใช่ว่าทำโฆษณาเพื่อสังคมแล้วจะต้องดีเพอร์เฟกต์ไปเสียหมด
      
        นอกจากนี้ ธวัชชัย ยังแนะนำว่า การทำความดีไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้มีเวลาว่างเพื่อที่จะออกไปทำงานพวกจิตอาสา หรือทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ขอเพียงทำอาชีพของตัวเองให้เป็นความดีก็ถือว่าได้ทำความดีและได้ช่วยสังคมแล้ว อยากให้ทุกคนมองว่าความดีสามารถทำเป็นอาชีพได้ อย่างคนขายก๋วยเตี๋ยวก้สามารถทำความดีเป็นอาชีพได้ ขอเพียงมีความซื่อสัตย์ต่องานที่ทำ ไม่ใช้หม้อที่มีสารตะกั่ว เลือกวัตถุดิบในการทำที่สด สะอาด และปลอดภัยต่อผู้บริโภค ก็ถือเป็นการทำความดีแบบเป็นอาชีพแล้ว


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000119562


โดนใจ ที่มีคนคิดแบบนี้อยู่ เราก็อยากทำแนวนี้