Pages

Long Live The king

Long Live The king

April 24, 2013

แบงก์ชาติ-เฮดจ์ฟันด์ป่วนตลาดปั่นราคาทองคำโลก 23.4.56


แบงก์ชาติ-เฮดจ์ฟันด์ป่วนตลาดปั่นราคาทองคำโลก


23 เมษายน 2556 เวลา

ตกอยู่ในอาการตื่นทองกันทั่วโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อราคาทองคำในตลาดดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 33 ปี แถมยังร่วงแรงทำสถิติลงมาเกือบ 10% ภายในหนึ่งวัน เมื่อวันที่ 15 เม.ย. โดยอยู่ที่ 1,361.70 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์
ผลลัพธ์ข้างต้นทำให้นักลงทุน ซึ่งรวมถึงบรรดาธนาคารกลางอีกส่วนหนึ่งซึ่งถือครองเก็บสำรองทองคำอยู่ในสภาวะขาดทุนระนาว เพราะราคาที่หล่นฮวบทำให้มูลค่าของทองคำสำรองเฉพาะของธนาคารกลางหายไปกว่า 5.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 16.24 ล้านล้านบาท) ภายใน 2 วัน
ขณะเดียวกันก็ทำให้นักลงทุนอีกส่วนหนึ่งเห็นเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ โดยหวังว่าราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะตกอยู่ในอาการตื่นทองแบบหวาดผวาหรือยินดี ผู้เชี่ยวชาญในตลาดทองคำส่วนใหญ่ต่างออกโรงเตือนว่า สถานการณ์ผันผวนและเอาแน่เอานอนไม่ได้ในปัจจุบัน ได้แสดงให้เห็นว่าราคาทองคำขณะนี้กำลังเป็นเครื่องมือสำหรับการเก็งกำไรหารายได้ใหม่ของผู้เล่นรายใหญ่ 2 กลุ่ม คือ ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น กับกองทุนบริหารความเสี่ยง หรือที่รู้จักกันดีในนาม เฮดจ์ฟันด์
เจฟฟรีย์ ซิกา ประธานเอสไอซีเอ เวลท์ แมเนจเมนท์ ในมอร์ริสทาวน์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งดูแลบริหารจัดการเงินทุนต่างชาติมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอมรับว่า สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทองคำไม่ได้เป็นเพียงแหล่งพักสินทรัพย์ที่ปลอดภัยอีกต่อไป แต่จะเป็นแหล่งลงทุนโกยกำไรที่น่าสนใจสำหรับเฮดจ์ฟันด์
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ราคาทองคำในตลาดโลกที่ผ่านมาอิงอยู่กับปัจจัยหลักๆ ประมาณ 3-4 ประการ คือ1) ค่าเงินเหรียญสหรัฐ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เงินสกุลหลักของโลกอ่อนลง นักลงทุนรวมถึงธนาคารกลางทั่วโลกจะแห่ซื้อทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษามูลค่าสินทรัพย์ของตนเอง 2) ปริมาณการผลิตและปริมาณความต้องการที่มีอยู่จริงในตลาด ซึ่งเกี่ยวพันกับสภาวะเศรษฐกิจโลก โดยปริมาณความต้องการทองคำจะมาจากอุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมการผลิตและการแพทย์ และภาคการลงทุนที่ต้องการทองคำมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังเกิดวิกฤตสินเชื่อเป็นต้นมา 3) ความวิตกกังวลในอัตราเงินเฟ้อที่ส่วนใหญ่นิยมสังเกตจากราคาน้ำมันในตลาด เพราะทองคำคือหนึ่งในสินทรัพย์ที่ถือครองเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ และ 4) สถานการณ์การเมืองและระบบการเงินที่หากมีสภาวะไม่มั่นคงเมื่อใด นักลงทุนจะแห่เข้าหาทองคำเพื่อใช้เป็นหลักประกันรับรองความปลอดภัยในสินทรัพย์ของตนเองทันที
ทว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างเห็นตรงกันว่าราคาทองคำอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจใช้ปัจจัยข้างต้นมากะเกณฑ์คาดการณ์ได้อีกต่อไป ขณะเดียวกันก็เป็นที่น่าสังเกตว่าความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางในหลายประเทศ และกองทุนเฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่กลับมีอิทธิพลต่อชะตากรรมของราคาทองคำมากขึ้น
กระทั่งอาจเรียกได้ว่า กลไกราคาทองคำในตลาดโลกบิดเบี้ยวและบิดเบือนด้วยความตั้งใจหรือจงใจของใครบางคนก็คงไม่ผิดนัก
ทั้งนี้ สำหรับภาวะเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ แถมยังมีสภาพคล่องล้นเหลือจากนโยบายอัดฉีดของรัฐบาลหลายประเทศ แทนที่ราคาทองคำจะพุ่งพรวดทำสถิติใหม่เหมือนที่เคยทำได้ในเดือน ก.ย. 2554 ที่ 1,923.70 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ แต่ราคาทองคำกลับไม่มีแววกระเตื้องขึ้นตามที่นักลงทุนหลายฝ่ายคาดหวัง
สาเหตุเพราะรายงานข่าวที่ระบุว่าธนาคารกลางไซปรัสกำลังจะขายทองคำสำรองบางส่วนเพื่อระดมทุนให้ได้อีก 1.3 หมื่นล้านยูโร เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ 1 หมื่นล้านยูโรจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จนทำให้เกิดกระแสหวาดหวั่นว่าบางประเทศอาจเดินตามรอยไซปรัส ขายทองคำสำรองออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของตนเอง
ยิ่งเมื่อก่อนหน้าข่าวขายทองคำของธนาคารกลางไซปรัส มีรายงานข่าวที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ของ จอร์จ โซรอส พ่อมดทางการเงินแห่ขายการถือครองทองคำในกองทุนตน แล้วหันมาลงทุนในตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ตลาดทองคำโลกหม่นหมองไม่น่าสนใจในทันที
นอกจากสถานการณ์ข้างต้นจะปั่นป่วนราคาทองคำในตลาดโลกได้เป็นอย่างดีแล้ว สัญญาณการเก็งกำไรทองคำยังเริ่มปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นจากการกลับเข้ามาถือครองทองคำ โดยเฉพาะในระยะยาวของบรรดาเฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่อีกครั้ง
บลูมเบิร์กรายงานว่า แม้ราคาทองคำจะดำดิ่งมากที่สุดในรอบ 33 ปี แต่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ของมหาเศรษฐีอย่าง จอห์น พอลสัน หนึ่งในกองทุนที่ลงทุนรายใหญ่ในตลาดทองคำโลกกลับเลือกที่จะเพิ่มเดิมพันในทองคำมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าล่วงหน้าของสหรัฐที่พบว่า บรรดาผู้จัดการกองทุนและนักเก็งกำไรต่างถือครองทองคำในระยะยาวเพิ่มอีก 9.8% มาอยู่ที่ 61,579 จุด ทั้งในตลาดฟิวเจอร์สและตลาดออปชั่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 16 เม.ย.
แดน เดนโบว์ ผู้จัดการกองทุนยูเอสเอเอ พรีเชียส เมทัลส์ แอนด์ มิเนเริลฟันด์ส กล่าวว่า เหตุการณ์ข้างต้นนับเป็นเรื่องน่าแปลกใจท่ามกลางราคาทองคำที่ปรับตัวลดลงในปัจจุบัน แต่เมื่อพิจารณาจากมูลค่าที่มีอยู่ในตัวเองของทองคำ จึงไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนหลายรายเลือกที่จะพึ่งระยะเวลาให้ช่วยเยียวยาราคาทองคำ
คาเมรอน แบรนด์ต ผู้อำนวยการการวิจัยแห่งเคมบริดจ์ ซึ่งคอยติดตามกระแสความเคลื่อนไหวของทุนในตลาดทั่วโลก ยอมรับว่า การที่ราคาทองคำร่วงลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ต่างเร่งถอนเงินลงทุนออกจากสารพัดกองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.07 แสนล้านบาท) โดยในจำนวนดังกล่าวประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินทุนที่ไหลออกจากตลาดทองคำและแร่โลหะมีค่าอื่นๆ เช่น เงิน แต่การเทขายส่วนใหญ่ล้วนเป็นการถือครองทองคำระยะสั้น
ขณะที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ของพอลสันแอนด์โค ให้เหตุผลอย่างมั่นใจว่า ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการซื้อในตลาดเอเชีย โดยเฉพาะจากจีนและอินเดียจะทำให้ราคาทองคำไม่ตกต่ำในระยะยาวแน่นอน
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ราคาทองคำในตลาดโลกทำสถิติดิ่งลงแตะ 1,321.50 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ในวันที่ 16 เม.ย. ราคาทองคำแท่งในขณะนี้ตีตื้นกลับมาแล้ว 5.6% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแห่ซื้อทองของจีนและอินเดีย
สมาคมทองคำจีน ระบุว่า ยอดขายปลีกในวันที่ 15-16 เม.ย. เพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ ด้านสมาคมทองคำแท่งบอมเบย์แห่งอินเดียถึงกับคาดการณ์ว่ายอดนำเข้าทองของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น 36% ในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ผู้ผลิตทองคำรายใหญ่อย่างยูเอส มินท์ ขายทองคำไปได้แล้วทั้งสิ้น 1.675 แสนออนซ์ในเดือน เม.ย. ทำสถิติสูงสุดประจำเดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2553
นอกจากนี้ พอลสันแอนด์โค ยังระบุอีกว่า ในอนาคตอันใกล้ นโยบายอัดฉีดเงินเข้าระบบของบรรดาธนาคารกลางจะทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อแน่นอน ซึ่งการลงทุนในทองคำย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด สอดคล้องกับความเห็นของ แคเธอรีน รอว์ ผู้จัดการกองทุนแบล็กร็อกในลอนดอน หนึ่งในเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ที่ลงทุนในทองคำ ที่ระบุว่าราคาทองคำดิ่งขณะนี้เป็นผลจากภาวะตื่นตระหนกจากกระแสข่าวแห่ขายทองของธนาคารกลางในหลายประเทศเสียมากกว่า
ด้านนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งยังให้เหตุผลว่า ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากราคาที่ถูกลงทำให้มีแรงดึงดูดให้ธนาคารกลางบางประเทศตัดสินใจเพิ่มการลงทุนในทองคำหรือเพิ่มปริมาณทุนสำรองทองคำของตนเอง เห็นได้จากธนาคารกลางศรีลังกาที่ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ว่า ราคาทองที่ร่วงลงถือเป็นโอกาสอันดีให้ประเทศเพิ่มทุนสำรอง
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านทองคำต่างสรุปตรงกันว่า เมื่อพิจารณาราคาทองคำในขณะนี้ควบคู่กับทิศทางแนวโน้มราคาในอนาคต “ทองคำ” อาจเป็นสินทรัพย์ที่อันตรายสำหรับการลงทุนของใครหลายคนก็เป็นได้