Pages

Long Live The king

Long Live The king

April 22, 2013

ผ่าขุมทรัพย์"ทองคำแสนตัน"ทั่วโลก


21 เมษายน 2556 
เปิดข้อมูลประเมินปริมาณทองคำทั่วโลก ที่เชื่อกันว่าที่คาดว่าน่าจะมีปริมาณเกิน 1.5 แสนตัน ทว่าแนวโน้มกลับจะถูกใช้หมดไปในการผลิตสินค้า
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งดิ่งทุบสถิติต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี โดยนักวิเคราะห์หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นผลมาจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ต่ำกว่าที่คาด และจากความกังวลข่าวธนาคารกลางหลายประเทศในยุโรปเตรียมนำทองคำสำรองออกมาขายเพื่อระดมทุนใช้หนี้สาธารณะ
แม้ว่าเหตุการณ์ “แปลกประหลาด” ครั้งนี้จะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก ทว่าตลาดทองคำก็ยังคงถือเป็นแหล่งทำเงินที่นักลงทุนเชื่อมั่นสูง เนื่องจากในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ทองคำมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะทองคำเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ และ “มีปริมาณจำกัด” ทั้งที่ถูกขุดขึ้นแล้วและยังอยู่ใต้โลก
วอร์เรน บัพเฟตต์ หนึ่งในนักลงทุนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า ปริมาณทองคำทั้งหมดที่ถูกขุดขึ้นมาในโลกนั้น มีจำนวนเพียงพอที่จะนำมาสร้างเป็นแท่งสี่เหลี่ยมที่มีขนาดด้านใหญ่ถึงละ 20 เมตรเลยทีเดียว ทว่าไม่มีใครรู้ว่าเป็นจริงหรือไม่ และจะใช้วิธีอะไรในการพิสูจน์
บีบีซี ระบุว่า หนึ่งในค่าประมาณการที่เหล่านักลงทุนมักใช้กันในปัจจุบันนั้น เป็นการประเมินโดย ทอมสัน รอยเตอร์ จีเอฟเอ็มเอส บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยแร่ทองคำ เงิน และแพลทินัม ซึ่งพบว่ามีปริมาณทองคำรวมกันทั้งหมดในโลกกว่า 171,300 ตัน โดยหากนำมาผลิตรวมกันเป็นแท่งขนาดใหญ่ จะมีขนาดความกว้างยาวและสูงกว่า 20.7 เมตร ใกล้เคียงกับขนาดที่ บัฟเฟตต์ ประมาณการเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป เนื่องจากตัวเลขประมาณการในปัจจุบันนั้นยังคงมีความแตกต่างกันมาก โดยมีตั้งแต่ปริมาณ 155,244 ตัน ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขของจีเอฟเอ็มเอสเล็กน้อย จนถึง 2.5 ล้านตัน ซึ่งมากกว่า 16 เท่า และหากนำมาอัดเป็นแท่งเดียวกัน ก็จะเต็มความจุของสนามหลักของวิมเบิลดันและมีความสูงถึง 143 เมตรเลยทีเดียว
จากคำกล่าวอ้างของ ทิโมธี กรีน นักประวัติศาสตร์ทองคำนั้น ระบุว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การคาดคะเนปริมาณทองคำในโลกมีความคลาดเคลื่อนสูง เนื่องจากทองคำนั้นถูกขุดขึ้นมาเป็นเวลานานกว่า 6,000 ปีแล้ว โดยเหรียญทองคำแรกของโลกถูกผลิตขึ้นมาในช่วง 550 ปีก่อนคริสตกาล โดย โครเอซุส กษัตริย์แห่งอาณาจักรลิเดีย ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในประเทศตุรกีปัจจุบัน และได้รับการยอมรับในฐานะสื่อกลางการแลกเปลี่ยนในภูมิภาคนั้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีการถกเถียงกันด้วยว่า เทคโนโลยีในการขุดทองสมัยโบราณมีศักยภาพในการผลิตมากเพียงใด โดยจีเอฟเอ็มเอสเชื่อว่ามีทองคำปริมาณกว่า 12,780 ตัน ถูกขุดขึ้นมาก่อนปี 1492 ซึ่งเป็นปีที่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา
ทว่า เจมส์ เทิร์ค ผู้ก่อตั้งบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านทองคำ โกลด์ มันนี เชื่อว่าเป็นการประเมินที่สูงเกินไป เนื่องจากเทคนิคการขุดทองสมัยโบราณนั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพเหมือนปัจจุบัน ปริมาณที่แท้จริงจึงน่าจะอยู่ที่ 297 ตันมากกว่า
นอกจากนี้ เทิร์ค ยังประเมินว่า ปัจจุบันทองคำทั่วโลกที่ถูกขุดขึ้นมาแล้วมีปริมาณรวมกันเพียง 155,244 ตัน ซึ่งน้อยกว่าที่จีเอฟเอ็มเอสประเมินไว้ 16,056 ตัน และแม้ว่าจะมีนักลงทุนบางกลุ่มที่ยอมรับการประเมินนี้ แต่นักวิเคราะห์ทองบางคนก็ยังมองว่า เมื่อเทียบกับตัวเลขที่มาจากสถาบันที่น่าเชื่อถือกว่าอย่างจีเอฟเอ็มเอสแล้ว การประเมินนี้เป็นเพียงความเชื่อของ “ลัทธิ” ที่พยายามต่อกรกับความเชื่อของแนวทางสายหลักเท่านั้น
“เพียงแค่ในสุสานตุตันคาเมนแห่งเดียว ก็มีโลงศพที่ถูกสร้างขึ้นจากทองคำปริมาณกว่า 1.5 ตันแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่ามีทองคำอีกมหาศาลทั้งที่ถูกปล้นไปและคงเหลืออยู่ในสุสานโบราณหลายแห่งที่มีปริมาณมากกว่าการประเมินนี้มหาศาล” ยาน สกอยเลส จากบริษัทลงทุนด้านทองคำ เรียล แอสเซท กล่าว
แม้จะยังไม่มีวิธีการหาตัวเลขปริมาณทองคำทั้งหมดในโลกอย่างแน่ชัด แต่สถาบันโกลด์ สแตนดาร์ด ก็พยายามใช้สูตรคณิตศาสตร์คำนวณหาปริมาณทองคำที่ถูกขุดขึ้นมาแล้ว โดยได้บทสรุปว่า หากนำทองคำออกมาจากตู้เซฟทั่วโลกแล้ว จะมีทองคำไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านตัน แต่ก็ยังเป็นการคาดคะเนที่สูงเอาการและยังขาดหลักฐานที่เพียงพอ
ไม่ว่าบทสรุปของปริมาณทองคำทั่วโลกจะมีเท่าไร แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องน่ากังวลใจคือ ทองคำมีแนวโน้มที่จะถูกใช้จนหมดไปจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ทองคำในการผลิตสินค้าต่างๆ ไม่เหมือนในอดีตที่ทองคำจะถูกนำไปรีไซเคิลเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ
จากเดิมที่มีการนำทองคำกลับมาใช้ผลิตสินค้าใหม่ได้เรื่อยๆ เนื่องจากถูกผลิตขึ้นเป็นชิ้นใหญ่ ทว่าปัจจุบันมีแนวโน้มที่ทองคำจะถูกใช้เป็นขนาดที่เล็กลงมาก โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี จึงอาจจะทำให้มีการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ลำบาก โดยจากการสำรวจทางธรณีวิทยาของอังกฤษพบว่า กว่า 12% ของทองคำที่ใช้อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ และถูกใช้ในปริมาณที่น้อยมากในการผลิตสินค้าแต่ละชิ้น
หากไม่มีการนำมารีไซเคิลผลิตซ้ำ มูลค่าของทองคำก็อาจเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ได้อีกครั้งในอนาคตอีกไม่นานนี้