Pages

Long Live The king

Long Live The king

August 08, 2011

แคลเซียม

แคลเซียม
นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์

phanomgon@yahoo.com

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-02-2008&group=4&gblog=19
โรคกระดูกพรุนหรือกระดูกโปร่งบาง จะมีปริมาณเนื้อกระดูกลดลง และ โครงสร้างภายในของกระดูกเปลี่ยนแปลง ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดน้อยลง เกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น ในระยะแรกผู้ป่วยมักจะปกติดีจนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุทำให้มีกระดูกหักเกิดขึ้น ทั้งที่เป็นอุบัติเหตุไม่รุนแรง เช่น ลื่นล้ม หรือ ตกเก้าอี้ แล้วเกิดกระดูกข้อมือหัก กระดูกสะโพกหัก

โรคกระดูกพรุนพบได้บ่อยเป็นลำดับที่ 2 รองจากโรคข้อเสื่อม โดยที่ไม่แสดงอาการผิดปกติ

ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 30-40 ขณะที่ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้เพียงร้อยละ 10 และพบว่าในผู้หญิงไทยอายุ 55 ปีเป็นโรคนี้ร้อยละ 20 แต่ในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 65 ปี เป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 60 จะเห็นว่าทุกคนมีโอกาสที่จะมีโรคกระดูกพรุนแอบแฝงอยู่

การสูญเสียเนื้อกระดูก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิมได้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันและรักษาตั้งแต่เริ่มแรกก่อนจะเกิดกระดูกหัก ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนก็คือ ได้รับแคลเซียมน้อยเกินไป

ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับในแต่ละวันจะแตกต่างกัน เช่น

คนทั่วไป ควรได้รับวันละ 800 มิลลิกรัม

เด็กและวัยรุ่น ควรได้รับวันละ 800-1,200 มิลลิกรัม

ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรได้รับวันละ 1,500-2,000 มิลลิกรัม

ผู้หญิงช่วงหมดประจำเดือน ควรได้รับวันละ 1,500 มิลลิกรัม

ผู้สูงอายุ ควรได้รับวันละ 1,000 มิลลิกรัม

อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น น้ำนม กุ้งแห้ง กะปิ ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งตัว เต้าหู้เหลือง น้ำเต้าหู้ หรือ อาหารจานเดียว เช่น ข้าวขาหมู ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊วใส่ไข่ ข้าวราดไก่ผัดกระเพรา ขนมจีนน้ำยา เป็นต้น

อย่างไรก็ตามถ้าได้รับแคลเซียมจากแหล่งอาหารประจำวันอย่างพอเพียง ก็ไม่จำเป็นต้องได้แคลเซียมเสริม นอกจากบางคนอาจได้แคลเซียมจากอาหารไม่พอเพียง หรือ มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนอย่างชัดเจน

ถ้าได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอนานประมาณ 18 เดือน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักได้

ในผู้สูงอายุ ควรได้รับ แคลเซียม ร่วมกับ ฮอร์โมนเอสโตรเจน แคลซิโทนิน หรือ วิตามินดี ซึ่งจะช่วยให้แคลเซี่ยมถูกดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น

วิตามินดี ส่วนใหญ่ได้รับจากแสงอาทิตย์ (ช่วงเช้า และ เย็น ) และ อาหาร ซึ่งค่อนข้างเพียงพอ ยกเว้นในผู้สูงอายุ ที่อยู่ในบ้าน ไม่ค่อยได้ออกไปตากแดด ทำให้ในผู้สูงอายุบางรายขาดวิตามินดี อาจต้องทานวิตามินดีเสริมด้วย

จากการศึกษาพบว่าในผู้ที่กินยาเม็ดแคลเซียมน้อยกว่าวันละ 2 กรัม ไม่พบว่ามีนิ่วในทางเดินปัสสาวะมากขึ้น และ ไม่ทำให้เกิดกระดูกงอกเพิ่มมากขึ้น (กระดูกงอกมักเกิดจากข้อเสื่อม ไม่เกี่ยวกับยาเม็ดแคลเซียม)



การเลือกชนิดของแคลเซียมเสริม ปัจจัยที่ควรพิจารณาเมื่อจะเลือกใช้แคลเซียมเสริม ได้แก่

1. ชนิดและปริมาณของเกลือแคลเซียม จะทำให้ร่างกายได้รับแตกต่างกันไป เช่น

แคลเซียมคาร์บอเนต ( calcium carbonate )
ได้รับแคลเซียมร้อยละ 40
แคลเซียมซิเตท ( calcium citrate )
ได้รับแคลเซียมร้อยละ 21
แคลเซียมแลคเตท ( calcium lactate )
ได้รับแคลเซียมร้อยละ 13
แคลเซียมกลูโคเนต ( calcium gluconate )
ได้รับแคลเซียมร้อยละ 9

2. ความสะดวกในการกิน จำนวนเม็ดที่ต้องกินในแต่ละวันขึ้นอยู่กับปริมาณแคลเซียมที่ต้องการ ถ้าเป็นยาที่มีแคลเซียมต่ำ เม็ดยาที่ต้องกินก็จะต้องมากขึ้น ทำให้ไม่สะดวก และ ทำให้ความสม่ำเสมอในการกินแคลเซียมน้อยลง

3. ราคา ราคาของยาเม็ดแคลเซียมแตกต่างกันมาก โดยทั่วไป ยาเม็ดธรรมดาจะราคาถูกว่ายาเม็ดแคปซูล ส่วนยาเม็ดฟู่จะราคาแพงที่สุด สำหรับผู้สูงอายุที่อาจมีปัญหาการดูดซึมของยาอาจจำเป็นต้องใช้แบบเม็ดฟู่

4. ส่วนผสมอื่น ๆ ในยาเม็ดแคลเซียม เช่น วิตามินดี วิตามินซี แร่ธาตุอื่น ๆ ในผู้ที่ขาดสารเหล่านี้ ก็จะได้ประโยชน์เพิ่มเติม แต่ผู้ที่ไม่ขาดสารเหล่านี้ก็ไม่จำเป็น เพราะยาเม็ดแคลเซียมที่มีส่วนผสมเสริมจะมีราคาแพงขึ้นไปด้วย