Pages

Long Live The king

Long Live The king

September 18, 2012

ปราโมทย์ ไม้กลัด พูดถึง น้ำท่วม 2555

“ปราโมทย์ ไม้กลัด”ติง รัฐบาลระวังติดคุก!!! จะเอา 3.5 แสนล้านมาใช้ แต่ไร้แผนศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม

ASTV ผู้จัดการรายวัน 15 กันยายน 2555 


เงินชดเชยน้ำท่วมปี 54 ยังได้กันไม่ครบดี ปีนี้คนไทยก็ต้องใจหายใจคว่ำกันอีกรอบ เพราะตอนนี้มวลน้ำก้อนใหญ่ได้เข้าถล่มจนเกิดเป็นวิกฤตอุทกภัยที่สร้างความเสียหายใน หลายพื้นที่ เรียกว่าท่วมไปแล้วถึง 20 จังหวัด ไล่ตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร ชัยนาท มาถึงอยุธยา ฯลฯ ขณะที่รัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงก็หาได้มีมาตราป้องกันหรือวางแนวทางรับมือกับน้องน้ำเลยแม่แต่น้อย ปล่อยให้ประชาชนตาดำๆ เดือดร้อนกันถ้วนหน้า
       
       ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและ อุทกภัย หรือ กบอ.ที่มี 'ปลอดประสพ สุรัสวดี' เป็นประธานนั้น มัวไปต่อแพไม้ไผ่อยู่ที่ไหน และเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทที่ 'รัฐบาลยิ่งลักษณ์' อนุมัติออกมานั้นนำไปใช้อะไร ผ่านไปเกือบปีจึงไม่มีมาตรการอะไรออกมาให้เห็น ตอนนี้จึงหวาดผวากันไปทั้งประเทศว่าคนไทยอาจต้องเผชิญกับวิกฤตมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เหมือนปี 54 ที่ผ่านมา !! เพราะการแก้ปัญหาแบบนกแก้วนกขุนทองของรัฐบาล
       
       งานนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำอย่าง อย่าง'ปราโมทย์ ไม้กลัด' อดีตอธิบดีกรมชลประธาน และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งชี้ถึงความอ่อนด้อยในการทำงานของ 'รัฐบาลปูนิ่ม'อย่างถึงลูกถึงคน ชนิดที่เรียกว่า 'สับเละ' ในทุกประเด็น
       
       มองการเตรียมการของรัฐบาลในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมในปีนี้อย่างไร
       
       ดูแล้วยังไม่มีอะไรคืบหน้าเลยครับ เงินที่กู้มา 3.5แสนล้านบาท ก็ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมเลย ยังมองไม่ออกเลยว่ารัฐบาลจะทำอะไร จะแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างไร เพียงแต่ บอกว่ารัฐบาลมีแนวคิดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีการศึกษาอะไรเลย ยังต้องผ่านขั้นตอนอีกเยอะ ต้องทำการศึกษา ฟลัดเวย์จะไปทางไหน สิ่งก่อสร้างจำเป็นไหม ไม่มีคำตอบ เพราะไม่ได้มีการศึกษา รัฐบาลบอกว่าจะฟื้นฟูต้นน้ำ จะกักน้ำไว้ที่แหล่งน้ำสำคัญๆ
       
       เช่น ลำน้ำปิง ลำน้ำยม ลำน้ำสะแกกรัง บอกจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น สร้างเขื่อนแม่วงก์ (โครงการสร้างอ่างกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก วงเงิน งบประมาณ5 หมื่นล้านบาท) แต่มันทำไม่ได้เพราะยังไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผลกระทบด้านต่างๆ จึงไม่มีเอกสารข้อมูลอะไรจะไปชี้แจงต่อ สผ.(สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เพราะโครงการเหล่านี้ต้องผ่านการกลั่นกรองจาก สผ.ก่อน ไม่งั้นจะเอาเงินงบประมาณออกมาได้อย่างไร ตั้งงบไว้ตั้ง 50,000 ล้าน เพราะฉะนั้นมันก็ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ก็น่าเป็นห่วง หรืออย่างพื้นที่ 2 ล้านไร่ซึ่งจะรองรับน้ำหลาก จะทำอย่างไรเพราะมันเกี่ยวข้องกับสังคมและผู้คน เพราะฉะนั้น เงินกู้ 3.5 แสนล้าน ผมมองไม่ออกว่ารัฐบาลจะเอาเงินออกมาใช้ทำอะไร ที่ไหน แบบไหน ตอนนี้ก็ให้บริษัทเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเสนอแนวคิดออกแบบก่อสร้างโครงการบริหารจัดการน้ำ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เข้ารกเข้าพงเลย
       
       เห็นว่าทีโออาร์บริหารจัดการน้ำที่ให้บริษัทเอกชนต่างๆ เสนอโครงการเข้ามาก็ไม่มีความชัดเจน
       
       ใช่ครับ รัฐบาลให้บริษัทต่างๆ เสนอกรอบแนวคิดที่จะออกแบบและก่อสร้างระบบระบบป้องกันและจัดการปัญหาอุทกภัย ถามว่าออกจะให้แบบก่อสร้างอะไร บริษัทที่เสนอแผนเขาก็คงจะงงนะครับ สิ่งที่รัฐมนตรีชี้แจงต่อบริษัทที่จะเสนอโครงการก็เป็นไปแบบกว้างๆ วนไปวนมา มันมีแค่กรอบแนวคิด แต่การจะสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ มันต้องมีการศึกษาผลกระทบต่างๆ ทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาเขาก็ต้องลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลตลอดเส้นทางที่น้ำไหลผ่าน ซึ่งต้องใช้เวลานานมาก เมื่อศึกษาเสร็จปุ๊บก็ต้องผ่านขบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ถ้าประชาชนคัดค้านจะทำอย่างไร โครงการมันเกิดไม่ได้ บริษัทที่ปรึกษาเขาก็ตายสิครับ
       
       รัฐบาลให้เวลาบริษัทเอกชนแค่ 3 เดือนในการศึกษาและจัดทำกรอบแนวคิด อาจารย์คิดว่าในทางปฏิบัติเป็นไปได้หรือไม่ 
       
       การจะให้รายละเอียดที่ลึกซึ้งและถูกต้องนั้นไม่ใช่จะใช้เวลาแค่ 2-3 เดือน มันต้องไปดูสภาพปัญหา สภาพภูมิศาสตร์ภูมิประเทศ ทิศทางการไหลของน้ำ ปริมาณฝน รัฐบาลมี ข้อมูลเหล่านี้ให้เขาหรือเปล่า จะให้เขานั่งเทียน ยกเมฆเสนอกรอบแนวคิดมามันก็ไม่ได้อะไรหรอกครับ ผมไม่เข้าใจว่าการทำงานของ กบอ.(คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย) เขาจะขับเคลื่อนไปทางทิศไหน ผมไม่เคยพบไม่เคยเห็น ไม่เคยเจอ ผมก็ทำงานด้านนี้มาตลอด ผมว่ามันจะเสียเวลาเปล่าๆ มันจะไม่ได้อะไร ถ้าเดินไปตามธงที่ตั้งไว้ โครงการมันเกิดไม่ได้ แล้วจะเอางบ 3.5 แสนล้านออกมาใช้ได้อย่างไร ถ้าเอาเงินออกมาใช้จะติดคุกติดตารางกันนะครับ
       
       ทำไมคนที่อนุมัติงบ 3.5 แสนล้านออกมาใช้ ถึงจะติดคุก
       
       คือสมมุติว่าผมเป็นอธิบดีกรมชลประทาน ผมจะอนุมัติงบประมาณที่ใช้ในโครงการต่างๆ โครงการมันก็ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีรายละเอียดที่ชัดเจน เป็นไปตามขบวนการอย่างถูกต้อง เป็นเหตุเป็นผล ตอบคำถามได้ สามารถดำเนินการได้จริง เมื่ออนุมัติงบประมาณปุ๊บ ต้องดำเนินการได้เลย และทำได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด ถ้าผมหมดวาระไป อธิบดีคนต่อไปเข้ามาทำงานแทน โครงการก็ยังต้องสามารถขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้มีการก่อสร้างก็เหมือนกัน แต่เห็นการทำงานของคณะกรรมการ กบอ.แล้วผมก็งงว่าตั้งงบ 3.5 แสนล้าน แต่ไม่มีรายละเอียดของโครงการ แล้วจะไประดมกู้เงินมาได้อย่างไร ตอนนี้ประชาชนเขามีความรู้นะ กู้มาทำอะไร ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้
       
       รัฐบาลกำหนดว่าคุณสมบัติของบริษัทที่จะดำเนินโครงการจะต้องมีประสบการณ์ผ่านงานออกแบบพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท และแต่ละผลงานต้องมีมูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่าผลงานละ 2 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทที่จะมีคุณสมบัติดังกล่าวก็มีแต่ต่างชาติเท่านั้น 
       
       ถ้ากำหนดว่าบริษัทที่จะทำโครงการจะต้องมีประสบการณ์ผ่านงานออกแบบพัฒนาแหล่งน้ำที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้าน มีผลงานก่อสร้างมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 พันล้าน ก็แปลว่ารัฐบาลอยากได้บริษัทที่มีความมั่นคง มีเงินลงทุนสูงเข้ามาทำโครงการก่อสร้างใช่ไหม ถามว่าก่อสร้างอะไร การแก้ปัญหาน้ำท่วมมันต้องทำการศึกษา การศึกษามันใช้สมอง ไม่ใช่เอาเงินทุนมาวางเดิมพัน ต้องศึกษาและวางระบบให้เป็นรูปธรรม ซึ่งต้องมีฐานข้อมูล และต้องใช้เวลา อย่างน้อยๆ แต่ละแผนงาน แต่ละโครงการเนี่ย ศึกษา 2 ปีก็ไม่เสร็จ นี่ไม่นับรวมขั้นตอนการออกแบบก่อสร้างนะ ฟลัดเวย์จะไปทางไหน แบบไหน อย่างไร ไม่ใช่อยู่ๆออกมาเป็นกรอบความคิด บอกให้ไปทางนั้นทางนี้ ถูกหรือผิดก็ไม่รู้ เมื่อศึกษาและได้ข้อมูลชัดเจนแล้วว่าฟลัดเวย์ควรไปทางไหนก็ต้องศึกษาทางด้านวิศวกรรมว่าวิศวกรรมแบบไหนดีที่สุด จากนั้นก็ต้องสำรวจว่าผลกระทบต่อผู้คนจะมีกี่พันครอบครัว จะเวนคืนได้ไหม ใช้เงินเท่าไร ชาวบ้านจะว่าอย่างไร 2 ปีก็ไม่เสร็จ
       
       อย่างจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น สร้างเขื่อนแม่วงก์ กว่าจะผ่านการพิจารณาของ สผ.ต้องใช้เวลานานนะครับ ไม่ใช่อยู่ๆ จะให้ผ่าน แล้วโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม จะดำเนินการทันทีไม่ได้ แต่นี่พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนมันอยู่ในอุทยานแห่งชาติ ยิ่งไปกันใหญ่เลย
       
       โครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมจะลากจอบลากเสียมก่อสร้างไปโดยไม่คำนึงถึงอะไรเลยมันทำไม่ได้ รัฐบาลรู้หรือเปล่า หรือรัฐบาลรู้แต่แกล้งทำไม่รู้
       
       ดูจากเงื่อนไขในการตัดเลือกบริษัทที่จะทำโครงการ บริษัทที่จะได้รับเลือกน่าจะเป็นบริษัทต่างชาติ แต่ ในความเป็นจริงข้อมูลน้ำในประเทศไทย คนไทยน่าจะรู้ดีกว่า
       
       ถูกต้อง ต่างชาติเขาจะมารู้ดีกว่าคนไทยได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านภูมิสังคม ทั้งภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ความอ่อนไหวของสังคม เขายิ่งไม่รู้ใหญ่ ต่างชาติเขาจะรู้ได้ยังไง ข้อมูลน้ำเขาก็รู้ไม่ลึกซึ้ง รู้แต่ทฤษฎี รู้ไม่จริง รู้จากการบอกเล่า ยังไงคนไทยเราก็รู้ ดีกว่า ถามว่าประเทศอื่นๆ ที่เขาเจอวิกฤตอุทกภัยเขาเคยจ้างต่างชาติไปศึกษาและทำโครงการไหม ไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น เขาก็ใช้บุคลากรในชาติเขาเอง มันก็แปลกนะเมืองไทย บุคลากรในชาติก็มีแต่ไม่ใช้ ไปใช้ใครก็ไม่รู้ ผมถึงบอกว่าหลงทางกันหรือเปล่า
       
       หลายคนสงสัยว่าทำไม่ใช้กรมชลประทานซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับน้ำและโครงการแก้ไขปัญหาน้ำ ท่วมต่างๆ อยู่แล้ว ต้องไปเสียเงินจ้างต่างชาติให้มาศึกษาข้อมูลทำไม
       
       องค์กรที่มีความรู้เกี่ยวกับน้ำมากที่สุดก็คือกรมชลประทาน ที่ผ่านมาแผนงานและโครงการในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการมาตลอด ผลงานของกรมชลประทานทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนเจ้าพระยา แผนงานอะไรต่างๆ ผลงานของกรมชลประทานทั้งนั้น ผมเองในขณะที่เป็นอธิบดีกรมชลประทานก็เข้าไปสานงานต่อจากรุ่นพี่ที่ทำกันไว้ ผมก็วางโครงการในภาคเหนือ ภาคอีสาน อ่างเก็บน้ำ ก็ทำไว้เต็มไปหมด ก็วางระบบไว้ให้พอสมควร ขับเคลื่อนด้วยตัวเองบ้าง เป็นลูกน้องเขาบ้าง มีผู้บังคับบัญชาใช้บ้าง มาถึงรุ่นหลังเขาก็สานต่อ การบรรเทาอุทกภัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ทางกรมชลประทานกับกรุงเทพมหานครช่วยกันทำ วิกฤตน้ำท่วมปี 2538 น้องๆปี 54 นะ กรมชลประทานกับ กทม. 2 หน่วยงานเท่านั้นแหล่ะครับยันอยู่เลย จนมาถึงปี 2554 นี่แหล่ะครับ ที่มาปรับเปลี่ยนนี่นั่น ไม่รู้รัฐบาลมองยังไง เกิดวิกฤตการณ์ปี 54 ก็ชุลมุนวุ่นวาย ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ตอนนี้รัฐบาลเอาใครมาก็ไม่รู้ แม้แต่การประชุมหน่วยงานในการแก้ปัญหาน้ำท่วมตอนนี้ก็ผิดเพี้ยนกันไปหมด
       
       ได้ยินว่าคณะกรรมการ กบอ. (คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย) แทบจะไม่มีเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานอยู่เลย
       
       เวลานี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นแม่งานในการแก้ปัญหาน้ำท่วม บุคลากรในนั้น (กบอ.) ก็เต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ตัวแทนจากกรมชลประทานก็คงต้องมี ไม่มีไม่ได้หรอก อย่างน้อยอธิบดีกรมชลประทานก็ต้องอยู่ในนั้น ส่วนจะมีบทบาทขนาดไหน ผมคิดว่าไม่มีหรอก เพราะระบบของเขา(กบอ.) เป็นซิงเกิล คอมมาน (ศูนย์สั่งการเพียงจุดเดียว) สั่งการจากไหนก็อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ส่วนกรมชลประทานก็มีหน้าที่ทำตามคำสั่งเท่านั้น คงไม่เข้าไปมีบทบาทเท่าไหร่หรอก จากที่ดูพฤติกรรมที่ผ่านมาก็น่าจะเป็นอย่างนั้น
       
       มีข่าวทำนองว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ไว้ใจกรมชลประทาน เพราะมองในเชิงการเมืองว่ากลัวจะถูกวางยา จึงทำให้กรมชลประทานไม่สามารถเข้าไปวางแผนในการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้
       
       รัฐบาลไม่รู้เรื่องว่าน้ำจากปิง วัง ยม น่าน มันมายังไง มวลน้ำ ยุทธศาสตร์น้ำปี 54 มันเป็นยังไง กรมชลประทานเขาไม่ได้วางยาหรอกครับ บริหารน้ำจัดการน้ำไม่ดีเกิดจากที่รัฐบาลพูด รัฐบาลก็บอกกรมชลฯบริหารจัดการน้ำไม่ดี น้ำจำนวนมหาศาลจะผลักไปทาง ไหน บริหารน้ำด้วยปากมันไม่ได้ เขื่อนสิริกิติ์กักน้ำช่วยบรรเทาไว้ตั้งเยอะแยะ มาบอกว่า กรมชลฯบริหารน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ผิดพลาด โอ้ย...คุณมาพูดตอนเดือนธันวาคม (2554) นี่ ทำไมไม่พูดตั้งแต่เดือน กันยายน สิงหาคมล่ะ มาพูดเอาตอนหลัง แสดงว่าไม่ใช่คนทำงานนี่ แล้วเขารู้หรือเปล่าว่าอะไรเป็นยังไง ผมว่าที่รัฐบาลพูด ไม่รู้เรื่องมากกว่า
       
       ก็เห็นอยู่ว่าเมื่อปีที่แล้ว ความชุลมุนชุลเกมันเกิดขึ้นเพราะหลายหน่วยงานลงไปกันเยอะ แต่ละคนที่เข้าไปก็ไม่เข้าใจงาน ต่างคนต่างทำ ลมเพลมพัด ตอนนั้นควรจะมีแม่ทัพบัญชาการเรื่องน้ำ แต่กลับไม่มีแม่ทัพ เพราะฉะนั้นมันก็เลยชุลมุนวุ่นวาย ผมก็ทนไม่ได้ ผมก็ ลงไปเสนอว่าน้ำมันจะโจมตีกรุงเทพฯ เอาไมอยู่หรอก ทำไมไม่ผันน้ำไปด้านทิศตะวันออก ของกรุงเทพฯ ซึ่งมันเป็นเป็นฟลัดเวย์ธรรมชาติ ในอดีตก็ใช้เส้นทางนี้ในการระบายน้ำ น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2538 กรุงเทพฯ ก็เลยอยู่รอดปลอดภัย ซึ่งรัฐบาลก็เห็นด้วย แต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีแม่ทัพที่จะสั่งการ คนนั้นกัก คนนี้กั้น นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองต่างพรรค โอ้ย...ไม่รู้จะว่ายังไง สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็เพราะบริหารจัดการไม่เป็น มันเป็นวิกฤตระดับประเทศ แต่การทำงานของรัฐบาล เรียกว่าใช้ไม่ได้ก็แล้วกัน
       
       แล้วท่านปลอดประสพ (ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย) ไม่ใช่แม่ทัพหรือ
       
       โห..แม่ทัพแม่เทิบอะไรกัน อย่าไปพูดถึงท่านเลย ท่านไม่ใช่ก็แล้วกัน หาคนสั่งการไม่มี ทุกคนเห็นด้วยกับที่ผมเสนอหมด แต่ไม่มีใครสั่งการ ตอนนั้นท่านปลอดประสพก็อยู่ ที่ผมพูดเรื่องนี้เพราะที่ผ่านมาน่ะผมเจอวิกฤตน้ำมาเยอะ ทีมงานของกรมชลประทานเขาก็ บริหารจัดการ สมัยก่อนไม่มีรัฐบาลท่านไหนเข้ามายุ่งหรอกครับ แม่ทัพของผมก็คืออธิบดี สมัยที่ผมเป็นอธิบดีกรมชลประทานไม่ได้เกิดวิกฤตน้ำท่วม แต่สมัยที่ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ของผม เป็นอธิบดีเกิดอุทกภัยใหญ่ ผมเป็นเสนาธิการก็คิดว่าจะทำยังไง แล้วก็เสนอไปยังท่านอธิบดี อธิบดีก็สั่งการลงมา เราก็ปฏิบัติ มันก็เรียบร้อย เพราะมีแม่ทัพ แต่วิกฤตการณ์ปีที่แล้วนี่ผิดกันครับ บริหารไม่เก่ง ทำสงครามสู้กับน้ำ กรุงจะแตก แต่ไม่มีแม่ทัพ รบก็แพ้ทุกกรณี อดีตลูกน้องผมจะเดินทางลงไปดูพื้นที่กลับต้องมานั่งเขียนรายงาน นั่งเขียนรายงานในขณะที่กรุงกำลังจะแตก ผมก็ถามว่าทำไมไม่ลงไปทำงานในสนาม มานั่งเขียนรายงานทำไม เขาบอกต้องเขียนรายงานให้ท่านนายกรัฐมนตรีทราบทุกวันว่าทำอะไรไปบ้าง โอ้ย...อย่างนี้กรุงแตกแน่ แล้วอีกไม่นานสนามบินดอนเมืองก็แตก เพราะบริหารงานไม่เป็น
       
       แปลว่าถ้าปล่อยให้กรมชลประทานทำงานไปโดยที่รัฐบาลไม่เข้าไปยุ่ง วิกฤตน้ำท่วมแบบปีที่ แล้วก็อาจจะไม่เกิด 
       
       คือถ้ากรมชลประทานมีบทบาทในการรับผิดชอบอย่างเต็มที่ตั้งแต่แรก ประคับประคองเหตุการณ์ จัดการได้ สถานการณ์อาจจะดีก็ได้ แต่ไปละเลงกันจนเลอะเทอะหมดแล้ว ทุกอย่างมันกระเจิดกระเจิงหมดแล้ว กรมชลฯ หน่วยงานเดียวก็แก้ไม่ได้
       
       ตอนนี้คนก็รู้สึกสับสนกับการทำงานของคณะกรรมการน้ำชุดต่างๆ ไม่รู้ว่าคณะกรรมการชุด ไหนมีหน้าที่รับผิดชอบกันแน่
       
       คือเดิมก็มี กยน.หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ทำหน้าที่วางแผนในการบริหารจัดการน้ำ แล้วก็มีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เป็นคณะทำงานในภาคปฏิบัติ นอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เป็นคณะกรรมการใหญ่ดูแลนโยบาย แต่ตอนนี้ยกเลิก กยน.ไปแล้ว เหลือแต่ กบอ. และ สบอช. โดย กบอ.ซึ่งป็นคณะทำงานในภาคปฏิบัติ ก็จะมีหน้าที่บัญชาการทั้งหมด หน่วยงานระดับกรมต่างๆที่มีอยู่ก็ต้องทำตามที่ กบอ.เห็นชอบ แต่ถ้าถามผมว่าขับเคลื่อนไปถูกทางหรือเปล่า ผมก็วิจารณ์มาตลอดว่ากำลังหลงทาง หมายความว่ามันไม่สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ชัดเจน แก้ปัญหาไม่ทันเวลาและไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เราต้องการขบวนการที่แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ปี 55 นี่ไม่ต้องพูดถึงหรอก ทำได้เท่าไรเอาเท่านั้น มีคนถามผมว่าปีนี้รัฐบาลจะรับมืออุทกภัยหนักได้ไหม ตอบได้เลยว่าไม่ได้หรอกครับ เวลานี้พื้นที่ส่วนใหญ่ยังอยู่รอดปลอดภัยเพราะธรรมชาติเขายังเมตตาปราณี
       
       คิดว่าการทำงานของ กบอ.ผิดพลาดตรงไหน
       
       ผมยังไม่อยากเรียกว่าผิดพลาดนะ แต่อยากจะเรียกว่ามันไม่ชัดเจน เพราะว่าแผนการรับมือกับอุทกภัยในอนาคตเป็นแผนถาวรและยั่งยืน มันต้องมีความชัดเจน ผมพูดเสมอว่าอุทกภัยหนักขนาดน้องๆ ปี 54 เกิดขึ้นแน่ ไม่รู้ปีไหน เพราะอดีตมันบ่งบอกชัดเจนว่าความถี่ของการเกิดผลกระทบที่รุนแรงในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมันเกิดขึ้นทุกๆ 3 ปีนะ เพราะฉะนั้นแผนการรับมืออย่างยั่งยืนต้องชัดเจน ถูกต้อง เป็นไปตามลำดับขั้นตอน เวลานี้มันทำแบบก้าวกระโดด ลืมขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนที่ 2 มีการออกประกาศทีโออาร์ให้เอกชนเสนอแผนบริหารจัดการน้ำ (กรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย) ซึ่งมีการระบุถึงโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ โดยที่ยังไม่มีการศึกษาอะไรเลย ให้ บริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างชาติออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำ แบบแผนที่เสนอ มาจะถูกหรือผิดยังไม่รู้เลย เพราะยังไม่ได้มีการศึกษา ที่ กบอ.คิดมา มันเป็นการคิดแบบตั้งธงเอาไว้แล้ว แล้วแบบนี้จะไปขับเคลื่อนโครงการอย่างไร จะให้เอกชนออกแบบก่อสร้างอะไร เดี๋ยวก็เหมือนโครงการโฮปเวลล์หรอก กลายเป็นอนุสาวรีย์ที่ใช้การอะไรไม่ได้
       
       อย่างโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หรือโครงการพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ที่พวกผม (กรมชลประทาน) ทำกัน ก็ทำกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มต้นจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีรับสั่งให้ไปคิด ไปศึกษาวิเคราะห์ ทำแล้วจะมีผลดีผลเสียอย่างไร ผลกระทบทบแต่ละด้านเป็นยังไง ชาวบ้านมีความเห็นอย่างไร ต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ศึกษาวิเคราะห์ทุกจุดกว่าจะเกิดเป็นโครงการ การบริหารจัดการน้ำและปัญหาอุทกภัยคุณคิดว่ามันง่ายหรือ กบอ.เสนอมาเป็นกรอบแนวคิด แนวคิดที่จะทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ดันไปเรียกว่า 'แผนแม่บท' ตายล่ะ !! แผนแม่บทคือแผนที่ผ่านการศึกษากลั่นกรองมาเรียบร้อยแล้ว แต่แผนงานที่ กบอ.เสนอเป็นแผนที่ศึกษาอยู่แค่บนโต๊ะ ทำไปแล้วล้มเหลวก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา
       
       ดูแล้วการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลนี้มุ่งแต่เรื่องโครงการก่อสร้างเป็นหลัก โดยไม่ได้สนใจศึกษารายละเอียดและสภาพปัญหาตามข้อเท็จจริง ซึ่งต่างจากโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตามแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งพระองค์ทรงศึกษาข้อมูลต่างๆ โดยละเอียดทุกพื้นที่ก่อนจะมีโครงการขึ้นมา
       
       โครงการพระราชดำริต่างๆของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ทรงรับสั่งกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานว่า “ พระราชดำริ คือแนวคิดของพระราชา แนวคิดของฉันนะ ฉันคิดว่ามันน่าจะทำอย่างนี้ แต่พระราชดำริไม่ใช่พระบรมราชโองการนะ เพราะฉะนั้นต้องไปวิ เคราะห์ให้ดี คิดให้รอบคอบ ศึกษาให้ละเอียด ถ้าทำแล้วมันแก้ปัญหาได้จึงค่อยทำ ” แต่นี่ยังไม่ได้ทำอะไรกันเลย แต่ไปตั้งงบรอไว้แล้ว 3.5 แสนล้าน มันอะไรกัน
       
       แม้แต่โครงการแก้มลิง ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็พูดกันผิดหมด โครงการแก้มลิงในพระราชดำริของพระองค์ท่านไม่ได้เป็นอย่างที่รัฐบาลพูดนะ ไม่ว่าจะเป็นแก้มลิงที่นครสวรรค์ แก้มลิงที่ จ.พิจิตร หรือแก้มลิงบางระกำ จ.พิษณุโลก ที่รัฐบาลพูด มันไม่ใช่ แก้มลิงในความหมายของในหลวงคือพื้นที่รับน้ำจากอุทกภัยมาเก็บ ไว้ แต่น้ำเหล่านี้ต้องสามารถระบายออกไปได้ เพื่อที่จะรับน้ำใหม่เข้ามา ไม่ใช่บึงที่น้ำไหลลงมา ขัง ออกไปไหนไม่ได้ อย่างที่รัฐบาลทำอยู่ อย่างนี้มันแก้น้ำท่วมไม่ได้