Pages

Long Live The king

Long Live The king

April 21, 2013

นักลงทุนแห่ขายกองทุนทองสหรัฐหนักสุดเป็นประวัติการณ์

นักลงทุนแห่ขายกองทุนทองสหรัฐหนักสุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์ล่าสุด

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20เมษายน 2556

บริษัทลิปเปอร์ในเครือธอมสัน รอยเตอร์รายงานว่า นักลงทุนในกองทุนที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐ ถอนเงินลงทุนสูงเป็นประวัติการณ์ราว 2.7 พันล้านดอลลาร์ ออกจากกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์และโลหะมีค่าในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 เม.ย. ขณะที่กองทุนหุ้นญี่ปุ่นดึงดูดเงินลงทุนได้สูงเป็นประวัติการณ์ ราว1.67 พันล้านดอลลาร์
                 ทั้งนี้ ลิปเปอร์จัดทำรายงานรายสัปดาห์โดยรวบรวมข้อมูลมาจากกองทุน  ETF และกองทุนรวมที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐ โดยตัวเลขของ ETF มักสะท้อนพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน ในขณะที่ตัวเลขของกองทุนรวมมักสะท้อนพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนรายย่อย                  กระแสเงินไหลออกจากกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์และโลหะมีค่าในสัปดาห์ล่าสุดนี้ ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรายงานตัวเลขนี้ในเดือนพ.ค.  2011 เป็นต้นมา โดยกองทุนกลุ่มนี้มักจะลงทุนในทอง                 ราคาทองแท่งดิ่งลงเกือบ 9 % ในวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยมีราคารูดลงกว่า 125 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์                 ความอ่อนแอของราคาทองและสินค้าโภคภัณฑ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก                 นายดั๊ก แคส ผู้ก่อตั้งซีบรีซ พาร์ทเนอร์ส แมเนจเมนท์ อิงค์ ซึ่งเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของราคาทองและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆบ่งชี้ว่า "การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลงสู่ระดับที่ส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์ในทางบวกต่อผลกำไรภาคเอกขน"                 นักลงทุนนำเงิน 1.68 พันล้านดอลลาร์เข้ามาลงทุนในกองทุน ETF ที่ถือครองหุ้นญี่ปุ่นในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 เม.ย. แต่กองทุนรวมหุ้นญี่ปุ่นมีกระแสเงินไหลออกเล็กน้อย ดังนั้นยอดเงินไหลเข้าสุทธิสำหรับกองทุนหุ้นญี่ปุ่นจึงอยู่ที่ 1.67 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำตัวเลขนี้ในปี 1992 เป็นต้นมา                 กระแสเงินจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่กองทุน ETF หุ้นญี่ปุ่น หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในวันที่ 4 เม.ย. ซึ่งเป็นมาตรการอัดฉีดเงิน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ เข้าสู่เศรษฐกิจญี่ปุ่นภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี โดยผ่านทางการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) เป็นส่วนใหญ่                 นายแมทธิว เลมิเยอซ์ นักวิเคราะห์ของลิปเปอร์ กล่าวว่า "เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ การลงทุนในตลาดญี่ปุ่นก็ดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่ดี"                 เงินจำนวนมากที่ไหลเข้าสู่กองทุน ETF หุ้นญี่ปุ่นมีส่วนช่วยหนุนกระแส เงินไหลเข้าสำหรับกองทุนหุ้นโดยรวมในสัปดาห์ล่าสุด โดยกองทุนรวมหุ้นและกองทุน ETF หุ้นมีกระแสเงินไหลเข้าสุทธิ 2.7 พันล้านดอลลาร์ โดยพุ่งขึ้นจากระดับ 1.4 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 เม.ย.                 กองทุน ETF ที่ถือครองหุ้นต่างชาติมีเงินไหลเข้า 1.46 พันล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ล่าสุด ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนม.ค.เป็นต้นมา และเป็นกระแสเงินไหลเข้าสุทธิครั้งแรก หลังจากมีเงินไหลออกมานานติดต่อกัน 4 สัปดาห์                 อย่างไรก็ดี กองทุนหุ้นสหรัฐมีกระแสเงินไหลเข้าลดลงเล็กน้อย โดยอยู่ที่ระดับเพียง 517 ล้านดอลลาร์ โดยกองทุนรวมหุ้นสหรัฐมีกระแสเงินไหลเข้าเพียง 421.3 ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ล่าสุด ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. ส่วนกองทุน ETF หุ้นสหรัฐมีเงินไหลเข้าเพียง 95.7 ล้านดอลลาร์                 อย่างไรก็ดี กระแสเงินไหลเข้าสำหรับกองทุนหุ้นสหรัฐที่ 517 ล้าน ดอลลาร์นี้ ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า กระแสเงินไหลเข้าปรับตัวลงไม่มากนัก ถึงแม้ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงในช่วง สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 เม.ย.                 ตลาดหุ้นสหรัฐทรุดตัวลงในวันที่ 15 เม.ย.ในอัตราที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2012 โดยทั้งดัชนี S&P 500, ดัชนีเฉลี่ย อุตสาหกรรมดาวโจนส์ และดัชนี NASDAQ ต่างก็ได้รับแรงกดดันจาก การรูดลงของราคาทอง และจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ                 ราคาทองเริ่มร่วงลง หลังจากไซปรัสถูกบังคับให้ขายทองคำสำรองออกมา เพื่อหาเงินมาใช้ตามเงื่อนไขในมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศวงเงิน 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์                 ราคาทองได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากสัญญาณบ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่  ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้ที่จะตัดสินใจชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอเกินคาดด้วย                 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอยู่ที่ 7.7 % ในไตรมาส 1/ 2013 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน โดยชะลอตัวลงจากอัตราการเติบโตที่ 7.9 % ในไตรมาส 4/2012                 บริษัทมอร์นิงสตาร์รายงานว่า พอร์ทลงทุนในโลหะมีค่าในสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมการลงทุนในทองและหุ้นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับทอง มีขนาดลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีขนาดลดลงเฉลี่ย 9.9 % ในช่วง 5 ปี                 กองทุนไมดาส และกองทุน ProFunds Precious Metals UltraSector ต่างก็มีขนาดลดลงกว่า 20 % ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา                 ตลาดหุ้นสหรัฐได้รับแรงกดดันในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 เม.ย. จากตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคและยอดค้าปลีกที่น่าผิดหวัง และจากการดิ่งลงของหุ้นกลุ่มการเงิน โดยดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลง 2.25 % ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์รูดลง 1.24 % ในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว                 ถึงแม้ความต้องการลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐอยู่ในระดับต่ำแต่นักลงทุนก็ทุ่มเงิน 4.27 พันล้านดอลลาร์เข้าสู่กองทุนรวมและกองทุน ETF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ต้องเสียภาษี ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์                 กองทุนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดึงดูดเงินลงทุนได้ 987.7ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ล่าสุด ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2012 โดยกองทุน ETF ที่มีชื่อว่า iShares Barclays Short Treasury Bond Fund ดึงดูดเงินลงทุนได้ 628.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่ามากที่สุดในบรรดากองทุนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ                 ในส่วนของกองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐนั้น กองทุน GMO US Treasury Fund ดึงดูดเงินลงทุนได้มากที่สุด โดยมีเงินไหลเข้า 297.2 ล้านดอลลาร์ ส่วนอันดับสองเป็นของกองทุน DoubleLine        Total Return Bond Fun ซึ่งมีเงินไหลเข้า 93.8 ล้านดอลลาร์                 กองทุนหุ้นกู้เกรดน่าลงทุนมีเงินไหลเข้า 1.27 พันล้านดอลลาร์ ในสัปดาห์ล่าสุด ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ส่วนกองทุนจังค์บอนด์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงและมีความเสี่ยงสูง ดึงดูดเงินลงทุนได้ 241.8 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.                 กองทุนตลาดเงินมีเงินไหลออก 2.59 หมื่นล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ ล่าสุด ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2011 ขณะที่กองทุนตลาดเงินเป็นกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์ระยะสั้น และถือเป็นกองทุนความเสี่ยงต่ำ                  การดิ่งลงอย่างรุนแรงของราคาทองในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา  อาจถือเป็นสัญญาณเตือนถึงความอ่อนแอของภาวะเศรษฐกิจโลก                  นักลงทุนชั้นนำบางรายกล่าวว่า การดิ่งลงของราคาทอง, น้ำมัน และโลหะในช่วงนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ในการสร้างอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง ถึงแม้ธนาคารกลางกลุ่มนี้อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบการเงินโลกก็ตาม                 ราคาทองดิ่งลงในวันจันทร์ในระดับที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์หากวัดในรูปของดอลลาร์ และผลกำไรขนาดหลายพันล้านดอลลาร์ที่นักลงทุนเคยได้รับจากการลงทุนในทองก็หายไปภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน  ขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า การดิ่งลงของราคาทองในครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ราคาสินทรัพย์ประเภทอื่นๆอาจจะปรับตัวลงในอนาคต และสิ่งนี้อาจจะเริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างรุนแรงในบางวันในสัปดาห์นี้                 นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า การดิ่งลงของราคาทองในครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า อาจเกิดเหตุรุนแรงทางเศรษฐกิจและตลาดในวงกว้างในช่วงต่อมา ซึ่งเหมือนกับเหตุการณ์การล้มละลายของลอง-เทิร์ม แคปิตัล แมเนจ เมนท์ ซึ่งเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ชื่อดังในปี 1998 และวิกฤติการเงินในอีกสิบปีต่อมา โดยราคาทองเคยทรุดตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงก่อนเกิดเหตุร้ายแรง   2 เหตุการณ์นี้                 นายโมฮัมเหม็ด เอล-อีเรียน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของกองทุน  พิมโค ซึ่งบริหารสินทรัพย์ 2 ล้านล้านดอลลาร์ กล่าวว่า ความอ่อนแอของราคาทองและสินค้าโภคภัณฑ์ "เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความกังวลต่อการเติบโต ของเศรษฐกิจโลก" และกล่าวเสริมว่า "ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมานานระยะหนึ่งแล้ว และกำลังส่งสัญญาณ ที่รุนแรงยิ่งขึ้นในขณะนี้"                 หลังจากนักลงทุนเทขายทองในช่วงต้นสัปดาห์นี้ เมื่อวานนี้พวกเขา ก็ได้เทขายพันธบัตรสหรัฐที่ได้รับการคุ้มครองจากภาวะเงินเฟ้อ (TIPS) หลังจากการประมูลพันธบัตรสหรัฐได้รับการตอบรับอย่างอ่อนแอ โดย TIPS เป็นตราสารหนี้ที่ใช้คุ้มครองนักลงทุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่สดใส                 การพุ่งขึ้นของราคาทองในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ได้แรงหนุนบางส่วนจากการเก็งกำไรในเม็ดเงินจำนวนมากที่เกิดจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งก่อนหน้านี้นักลงทุนเคยคาดการณ์กันว่า มาตรการปล่อยสินเชื่อจำนวนมากอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ดี การดิ่งลงในระยะนี้ ของราคาทอง, น้ำมัน และทองแดงบ่งชี้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะไม่เกิดขึ้น                 ราคาน้ำมันและทองแดงถือเป็นราคาสินทรัพย์ที่มีความผูกพันเป็นอย่างมากกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก                 นักลงทุนจำนวนมากได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในฐานะสินทรัพย์ ปลอดภัยในระยะนี้ และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐร่วงลงใกล้จุดต่ำสุดรอบ 4 เดือน โดยสิ่งนี้ถือเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจ โลกมีแนวโน้มไม่มั่นคง เพราะนักลงทุนมักจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอหรือไร้เสถียรภาพ                 กองทุน PIMCO Total Return Fund ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับพันธบัตร สหรัฐขึ้นสู่ 33 % ในเดือนมี.ค. จาก 28 % ในเดือนก.พ. โดย กองทุนแห่งนี้ถือครองสินทรัพย์ 2.89 แสนล้านดอลลาร์ และอยู่ภายใต้ การบริหารของนายบิล กรอส                  นายกรอสระบุทางทวิตเตอร์ในวันพุธว่า "ราคาทองเริ่มเข้าสู่ช่วง ของการเทขายในตลาดแล้ว และคุณควรเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ"                 นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มีนักวิเคราะห์เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่คาดการณ์เช่นนี้                  นายโคมาล ศรี-กุมาร ประธานบริษัทศรี-กุมาร โกลบอล สเตรเทจีส์ กล่าวว่า "เรื่องนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ไม่สำคัญ เพราะส่งผลกระทบในระดับพื้นฐาน"                 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในวันอังคารที่ผ่านมา ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกอาจเติบโต 3.3 % ในปีนี้ โดยปรับลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 3.5 % ส่วนอัตราการเติบโตในปี 2012 อยู่ที่ 3.2 %                 เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บางรายกังวลกับการชะลอตัวทาง เศรษฐกิจและการร่วงลงของอัตราเงินเฟ้อ โดยนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า "ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อยังคงร่วงลงต่อไป ผมก็จะเต็มใจปรับเพิ่มจังหวะความเร็ว" ในการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ                 นายศรี-กุมารกล่าวว่า สัญญาณต่างๆกำลังบ่งชี้ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอาจร่วงลงอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งปีหลัง และเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในปี 2014                 เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้นักลงทุนตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เฟด, ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลาง แห่งอื่นๆได้ประกาศใช้ในช่วงที่ผ่านมา และเนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศประสบภาวะขาดแคลนเงินสด ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้จึงต้องรับภาระใหญ่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวอีกครั้งหลังผ่านพ้นวิกฤติ การเงิน โดยเฟดใช้วิธีเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและหลักทรัพย์ที่ได้รับ การค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) จำนวนมาก                 อย่างไรก็ดี ถ้าหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้เริ่มส่งผลบวก น้อยลงเรื่อ่ยๆ สิ่งนี้ก็จะสร้างความกังวลเป็นอย่างมากต่อนักลงทุนในสินทรัพย์ เสี่ยง                 การดิ่งลงของราคาทองในช่วงนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง โดยในวันอังคารที่ผ่านมา  กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 %  ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.  2012                 แบงก์ ออฟ อเมริกา-เมอร์ริล ลินช์ประกาศเตือนเมื่อเร็วๆนี้ว่าราคาทองอาจร่วงลงสู่ 1,200 ดอลลาร์/ออนซ์ก่อนจะเข้าสู่เสถียรภาพ โดยได้รับแรงกดดันจาก "ความกังวลเรื่องการร่วงลงของอัตราเงินเฟ้อ  และข่าวที่ว่าธนาคารกลางบางประเทศอาจจะขายทองออกมา" โดยราคาทองอยู่ที่ระดับ 1,392 ดอลลาร์/ออนซ์ในช่วงท้ายวานนี้                 การดิ่งลงของราคาทองและตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอในระยะนี้ ส่งผลให้นักลงทุนปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายฤดูร้อนปี 2012                 ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนระหว่าง TIPS ประเภทอายุ 10 ปี และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐแบบปกติประเภท 10 ปี อยู่ที่ 2.27 % เมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนก.ย. 2012 หรือก่อนที่ เฟดจะประกาศมาตรผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (QE3)                 ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนนี้เป็นมาตรวัดการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของนักลงทุน และถือเป็นอัตรา "คุ้มทุน" เมื่อเทียบกับภาวะเงินเฟ้อในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยส่วนต่างอัตราผลตอบแทนนี้เคยอยู่ที่ระดับสูงถึง 2.61 %  ในช่วงปลายเดือนม.ค.                 ทางด้านราคาสัญญาล่วงหน้า 3 เดือนของทองแดงดิ่งลงแล้ว 12 %  จากช่วงต้นปีนี้ และร่วงผ่านระดับ 7,000 ดอลลาร์/ตันลงไปในตลาดโลหะลอนดอนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2011                  ทองแดงเป็นโลหะสำคัญที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างบ้านโดยใช้ทั้งในรถยนต์และท่อประปา ดังนั้นราคาทองแดงจึงถือเป็นมาตรวัดที่ดีสำหรับระดับอุปสงค์                 อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่า ราคาสินทรัพย์ซึ่งเคยประสบกับภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในทศวรรษที่แล้ว ยังไม่ได้ปรับลดลงอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการดิ่งลงของราคาทองและโลหะอื่นๆในช่วงนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากนัก                 นายริชาร์ด เบิร์นสไตน์ ซึ่งเป็นนักยุทธศาสตร์การลงทุนกล่าวว่า "เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในขณะนี้อยู่ในช่วงขาลงของภาวะฟองสบู่ด้านสินเชื่อทั่วโลก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลที่จะคาดหวังให้อัตราเงินเฟ้ออยู่สูงผิดปกติ"                  นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า ราคาทองควรจะปรับฐานลงอยู่แล้วในช่วงนี้ โดยราคาทองปรับตัวขึ้นนานติดต่อกัน 12 ปีแล้ว และพุ่งขึ้นมาแล้ว 52 % ในช่วง 3 ปีหลัง                  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง นักลงทุนก็ปรับลดการลงทุนในทอง               กองทุนสหรัฐที่ลงทุนในโลหะมีค่ามีกระแสเงินลงทุนไหลออก 2.7 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ โดยตัวเลขนี้รวมถึงกระแสเงิน 2.2 พันล้านดอลลาร์ ที่ไหลออกจากกองทุน SPDRs Gold Shares ETF ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกองทุน ETF ที่ใหญ่ที่สุดในโลก                 กองทุนแห่งนี้มีสินทรัพย์วงเงิน 5.08 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่สินทรัพย์ของกองทุนนี้ลดลงราว 1 ใน 3 นับตั้งแต่เดือนต.ค. 2012                 ราคาทองพุ่งขึ้นมาแล้วกว่า 5 % จากจุดต่ำสุดรอบ 2 ปีที่ 1,321 ดอลลาร์/ออนซ์ที่ทำไว้ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ และสิ่งนี้ส่งผลให้นักลงทุนบางรายมองว่า การดิ่งลงในครั้งนี้อาจเป็นเพียงการปรับฐาน                 อย่างไรก็ดี นักลงทุนหลายรายยังคงกังวลว่า ราคาทองอาจจะดิ่งลงครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยโบรกเกอร์รายหนี่งกล่าวว่า "ถ้าหากราคาทองร่วงลงแบบนี้อีกครั้ง ตลาดหุ้นก็จะดิ่งลงตามไปด้วย และ เมื่อนั้นเราจะเผชิญกับปัญหาที่แท้จริง        (ข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์)               T.Thammsak