Pages

Long Live The king

Long Live The king

May 02, 2013

capital control หยุดบาทแข็งได้ทันที แต่ รบ.กลัวกระทบกู้ 2 ลล. โบรกฯ แนะใช้ยาอ่อนเตือนเม็ดเงินร้อน

ASTVผู้จัดการออนไลน์1 พฤษภาคม 2556 



“ธีระชัย” โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้ ธปท. มีเครื่องมือพร้อมชะลอบาทแข็ง เริ่มจากระดับอ่อนถึงเข้ม พร้อมแฉ “คลัง” สามารถใช้มาตรการ capital control ซึ่งสามารถทำได้จากระดับอ่อน ไปถึงระดับเข้มด้วยการเก็บภาษีแต่กลับไม่ทำ ระบุชัดหากเริ่มทำเมื่อใดแรงกดดันบาทแข็งก็จะยุติเมื่อนั้น ซึ่งการที่คลังไม่ยอมคุมพันธบัตรแก้บาทแข็ง เพราะกลัวกระทบโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้าน ด้านนักวิเคราะห์แนะใช้มาตรการอ่อนเพื่อส่งสัญญาณให้นักลงทุนทราบ แต่ไม่ควรใช้กันสำรอง 30% อาจทำให้ช็อกตลาดได้

       
       รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (30 เม.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala โดยระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีเครื่องมือพร้อมเพรียงอยู่แล้วที่จะชะลอเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้น เริ่มจากอ่อนจนถึงระดับเข้ม
       
       “สำหรับการถกเถียงกันเรื่องวิธีการที่จะชะลอเงินบาทแข็งขึ้นนั้น นอกจากการเก็บภาษีเงินทุนที่ไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตร ซึ่งเป็นมาตรการที่ค่อนข้างเข้มแล้ว ยังมีมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมเงินทุนไหลเข้า (capital control) ที่สามารถดำเนินการได้แบบเป็นขั้นๆ จากระดับอ่อน ไปจนถึงระดับเข้มอีกด้วย เช่น
       
       เริ่มต้นด้วยการกำหนดให้เงินทุนไหลเข้าต้องมีการลงทะเบียน หรือเปิดเผยข้อมูล
       
       หรือทำให้ขั้นตอนการนำเงินเข้าหรือออกไปนั้น ต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายบางประการ
       
       หรือเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับนักลงทุนต่างชาติให้เหมือนกับนักลงทุนไทย ฯลฯ ซึ่งแบงก์ชาติเขามีข้อมูล และตัวอย่างมาตรการแบบอ่อนไปถึงแบบเข้มที่ประเทศอื่นๆ เคยนำมาใช้อยู่พร้อมเพรียงแล้ว
       
       ต่อมา เช้าวันนี้ นายธีระชัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกรอบ แสดงความเห็นถึงสาเหตุของเงินบาทแข็งค่า และแนวทางแก้ไขที่รัฐควรเข้าไปดูแลตลาดพันธบัตรซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บาทแข็ง แต่รัฐไม่ทำเพราะจะทำให้มีเงินมาซื้อพันธบัตรน้อยลงในอนาคต ซึ่งอาจกระทบต่อการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท
       
       พร้อมกันนี้ ยังแสดงกราฟซึ่งจัดทำโดย Asian Development Bank แสดงสัดส่วนของพันธบัตรไทยที่ถือโดยนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แสดงถึงเงินทุนไหลเข้าที่มุ่งเข้าไปในตลาดพันธบัตรไทยเป็นหลัก และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บาทแข็ง
       
       ทั้งนี้ เงินทุนที่ไหลเข้าในตลาดพันธบัตร เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าเงินที่ไหลเข้าในตลาดหุ้นหลายเท่า วิธีลดแรงกดดันเงินบาทที่ได้ผลที่สุดก็คือ การดูแลเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตร ซึ่งการลดดอกเบี้ยนโยบายที่มีอายุเพียง 1 วัน จะไม่แก้ปัญหาตรงจุด แต่ต้องใช้มาตรการ capital control ซึ่งสามารถทำได้จากระดับอ่อน ไปถึงระดับเข้มด้วยการเก็บภาษี เริ่มทำเมื่อใดแรงกดดันบาทแข็งก็จะยุติเมื่อนั้น
       
       ถามว่าทำไมกระทรวงการคลังจึงไม่เลือกใช้มาตรการด้านนี้ แต่หันไปกดดันแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ยแทน มาตรการคุมเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตร ถึงแม้จะได้ผลในการลดแรงกดดันบาทแข็ง แต่จะทำให้มีเงินมาซื้อพันธบัตรน้อยลงในอนาคต ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมีแผนจะกู้เงิน 2 ล้านล้าน ก็อาจจะไม่อยากไปแตะต้องตลาดพันธบัตร เป็นเรื่องธรรมดา
       
       นอกจากนี้ ธุรกิจที่อาศัยเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวไปบูมโครงการต่างๆ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ แหล่งเงินก็จะมีน้อยลง เขาก็ย่อมไม่ชอบ เป็นเรื่องธรรมดา
       
       ทุกมาตรการมีข้อดีข้อเสียครับ ไม่ว่า ก. แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือ ข. ใช้ capital control หรือ ค. แบงก์ชาติเข้าไปแทรกแซงซื้อดอลลาร์ หรือแม้แต่ ง. ปล่อยให้บาทแข็ง และบังคับให้ผู้ส่งออกต้องปรับตัว”
       
       ด้านนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ยอมรับว่า มาตรการแก้ไขค่าเงินบาทมีหลายระดับ แต่ทางการควรออกมาตรการในระดับอ่อน เพื่อแสดงท่าทีให้นักลงทุนต่างชาติทราบ เช่น ลดดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 หรือเก็บค่าธรรมเนียมเงินทุนระยะสั้น แต่ไม่ควรใช้มาตรการแรง เช่น การตั้งสำรองเงินลงทุนร้อยละ 30 เพราะจะช็อกตลาดเหมือนที่ผ่านมา
       
       สำหรับแนวโน้มการลงทุนในวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 นักกลยุทธ์การลงทุน แนะนำว่า ต้องติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในคืนวันนี้ และพรุ่งนี้ และการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 นี้ โดยเชื่อว่ายังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป