Pages

Long Live The king

Long Live The king

July 31, 2012

ของเก่า recycle เป็นเงินได้


ขยะขุมทรัพย์ในบ้าน

ทุกวันนี้เราทำเงินหายไปวันละ 8 บาท เดือนละ 240 บาท ปีละ 2,920 บาท โดยไม่รู้ตัว
ถ้าในครอบครัวมีกันอยู่ 4 คน ก็เท่ากับว่า บ้านเราทำเงินหายวันละ 32 บาท เดือนละ 960 บาท ปีละ 11,680 บาท

และในทุกๆ วันคนไทย 63 ล้านคน ช่วยกันทำเงินหล่นวันละ 504 ล้านบาท เดือนละ 1.51 หมื่นล้านบาท ปีละ 1.83 แสนล้านบาท

เงินจำนวนนี้หล่นลงไปพร้อมกับขยะ ที่เราทิ้ง

สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการ โรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ ที่ขยับฐานะจาก "คนบ้าค้าขยะ" มาเป็นเจ้าของธุรกิจรีไซเคิลรายใหญ่ของประเทศ บอกว่า คน 1 คน สามารถผลิตขยะได้ 1 กิโลกรัม ใน 1 วัน และในขยะ 1 กิโลกรัม เป็นขยะที่นำมารีไซเคิลได้ 80% เพราะฉะนั้น ถ้าคิดราคาขยะเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10 บาท ก็เท่ากับเรากำลังทิ้งเงินวันละ 8 บาท


แต่เราสามารถเก็บเงินที่ตกหล่นกลับเข้ากระเป๋าได้ด้วยวิธีการคัดแยกขยะแบบง่ายๆ ซึ่งสมไทยเรียกว่า ธุรกิจขยะขายตรง หรือ "Direct Waste"

"ทุกวันเสาร์อาทิตย์จะมีแม่บ้านนั่ง รถแท็กซี่มาต่อคิวขายขยะกันยาวเหยียด ขนมาเต็มคันรถแท็กซี่ขายได้ 3,000 บาท ค่ารถ 200 บาท ทำไมจะไม่คุ้ม ไม่ใช่แค่ 20-30 บาท แต่มันเป็นเงินพัน เงินหมื่น ถ้ารู้จักการคัดแยกขยะ" สมไทย กล่าว

ก่อนจะคัดแยกขยะ ต้องรู้จัก "ขยะ" กันเสียก่อน สมไทย บอกว่า ขยะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ

ขยะรีไซเคิล คือ ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ มี 4 กลุ่มหลัก คือ กระดาษ พลาสติก โลหะ แก้ว

ขยะแห้ง ซึ่งบางส่วนสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนการใช้ถ่านหินลิกไนต์ ในโรงงานปูนซีเมนต์ เช่น เศษผ้า เศษไม้ กล่องโฟม ถุงพลาสติก ซึ่งสมไทยเรียกขยะประเภทนี้ว่า "น้ำมันบนดิน"

ขยะเปียก เช่น เศษอาหาร ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที เช่น ใช้เป็นอาหารสัตว์ และเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในอนาคต โดยการใส่เชื้อจุลินทรีย์ทำเป็นปุ๋ย

ขยะอันตราย ก็มีทั้งที่นำไปรีไซเคิลได้ และรีไซเคิลไม่ได้ ซึ่งขยะอันตรายที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เช่น น้ำมันเครื่องรถยนต์ แบตเตอรี่เก่า

แต่ในขยะทั้ง 4 ประเภท มีอยู่ 9 ชนิดที่นำมาสร้างประโยชน์ ได้แก่ โลหะ กระดาษ แก้ว พลาสติก ยางรถยนต์ ขยะอันตราย เศษอาหาร ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะแห้งเพื่อเป็นพลังงานทดแทน

กระดาษ

กระดาษที่ขายได้ มีตั้งแต่กระดาษกล่องสีน้ำตาล กระดาษหนังสือเป็นเล่ม กระดาษสมุดนักเรียน กระดาษปอนด์ขาว-ดำ หรือกระดาษที่ใช้ในสำนักงาน กระดาษคอมพิวเตอร์ และกระดาษหนังสือพิมพ์ รวมทั้งกล่องนมและน้ำผลไม้

ราคารับซื้อแตกต่างกัน กระดาษที่ได้ราคาดีที่สุด ต่อกิโลกรัม คือ กระดาษสมุด กระดาษปอนด์ที่ใช้ในสำนักงาน ซึ่งกระดาษสำนักงาน กระดาษปอนด์ขาว ที่ผลิตจากเยื่อกระดาษใหม่ ผ่านการรีไซเคิลมาเป็นกระดาษทิชชูชนิดหยาบ หรือทิชชูสีชมพู

ก่อนหน้านี้กระดาษกล่องนมและกล่องน้ำผลไม้ขายไม่ได้ เพราะมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย ทำให้ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แต่ปัจจุบันกระดาษกล่องนมก็สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แต่ราคาต่อกิโลกรัมไม่สูงนัก

แต่กระดาษที่เคลือบด้วยพลาสติก เช่น กระดาษห่อของขวัญ กระดาษเปื้อนน้ำมันเครื่อง กระดาษติดกาว และกระดาษที่ทำจากฟางบางชนิด ขายไม่ได้ เพราะการปนเปื้อนเพียงเล็กน้อยอาจจะทำให้กระดาษเอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้

แก้ว

แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ขวดแก้วดี และขวดแก้วแตก ซึ่งราคารับซื้อจะแตกต่างกัน โดยเฉพาะขวดแก้วดี ราคารับซื้อจะขึ้นอยู่กับประเภทขวด

ขวดแก้วดีจะถูกนำกลับไปที่โรงงาน ผู้ผลิต เพื่อกลับไปทำความสะอาดและ นำกลับมาใช้อีก ซึ่งขวดใบหนึ่งสามารถใช้ซ้ำได้ถึง 30 รอบ ขณะที่ขวดแก้วที่ชำรุดเสียหาย จะถูกแยกเป็นขวดแก้วแตก จะต้องคัดแยกสี สีขาว สีเขียว สีแดง และ สีรวม ซึ่งจะนำไปหลอมและผลิตออกมาเป็นขวดใบใหม่

โลหะ

มีขยะหลายชนิดที่จัดอยู่ในกลุ่มโลหะ อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม ทองแดง ทองเหลือง สเตนเลส และตะกั่ว รวมทั้งแบตเตอรี่ ซึ่งในกลุ่มนี้ ทองแดงมีราคาต่อกิโลกรัมสูงที่สุด

เหล็ก แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ เหล็กเหนียว (เช่น ตะปู เหล็กเส้น เหล็กฉาก) เหล็กหล่อ (เช่น หัวเตาแก๊ส ขาจักร เสื้อสูบรถยนต์) เหล็กรูปพรรณ เศษเหล็กอื่นๆ ซึ่งราคาซื้อขายเหล็กนอกจากจะขึ้นอยู่กับประเภทและสภาพของเหล็กแล้ว ขนาดเหล็กยังมีผลกับราคาด้วย โดยเหล็กตัดสั้นจะได้ราคาสูงกว่า

อะลูมิเนียม ก็มีอยู่หลายประเภท เช่นกัน อะลูมิเนียมหนา เช่น อะไหล่รถยนต์ ลูกสูบ อะลูมิเนียมบาง เช่น กะละมัง หม้อ ขันน้ำ และกระป๋องอะลูมิเนียม ซึ่งตัวกระป๋องและฝากระป๋องทำจากอะลูมิเนียมต่างชนิดกัน

สมไทย บอกว่า "กระป๋องอะลูมิเนียมทุกใบสามารถส่งกลับคืนโรงงาน เพื่อนำไปผลิตเป็นกระป๋องได้โดยไม่มีข้อจำกัดจำนวนครั้งในการผลิต"

พลาสติก

พลาสติกมี 2 ประเภท คือ เทอร์โมเซตติง (Thermosetting) มีรูปทรงถาวร ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (เช่น เมลามีน) และเทอร์โมพลาสติก (Thermo plastic) อ่อนตัวเมื่อได้รับความร้อนและสามารถนำกลับมาหลอมใช้ใหม่ได้ และพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้

ห้องสมุดออนไลน์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลอยู่ 7 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีสัญลักษณ์รีไซเคิล คือ หมายเลขชนิดและตัวอักษรภาษาอังกฤษกำกับไว้

1) โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET หรือ PETE) ใช้ทำขวดน้ำดื่ม ขวด น้ำมันพืช สามารถนำมารีไซเคิลเป็น เส้นใยสำหรับทำเสื้อกันหนาว พรม ใยสังเคราะห์ ถุงหูหิ้ว กระเป๋า และขวด

2) โพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) ใช้ทำขวดนม น้ำผลไม้ โยเกิร์ต บรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำยาทำความสะอาด ยาสระผม แป้งเด็ก ถุงหูหิ้ว สามารถนำมารีไซเคิลเป็นขวดใส่น้ำยาซักผ้า ขวดน้ำมันเครื่อง ท่อ ลังพลาสติก ไม้เทียมใช้ทำรั้วหรือม้านั่งในสวน

3) โพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ใช้ ทำท่อน้ำประปา สายยางใส แผ่นฟิล์มสำหรับห่ออาหาร ม่านห้องน้ำ กระเบื้องยาง แผ่นพลาสติกปูโต๊ะ ขวดใส่แชมพู สระผม ประตู หน้าต่าง วงกบ และ หนังเทียม สามารถนำมารีไซเคิลเป็นท่อ นำประปา รางน้ำ กรวยจราจร เฟอร์นิเจอร์ เคเบิล แผ่นไม้เทียม

4) โพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) ใช้ทำแผ่นฟิล์มสำหรับห่ออาหาร ถุงใส่ขนมปัง ถุงเย็นสำหรับบรรจุอาหาร สามารถนำมารีไซเคิลเป็นถุงดำสำหรับ ใส่ขยะ ถุงหูหิ้ว ถังขยะ กระเบื้องปูพื้น เฟอร์นิเจอร์ แท่งไม้เทียม

5) โพลิโพรพิลีน (PP) ใช้ทำภาชนะบรรจุอาหาร เช่น กล่อง ชาม จาน ตะกร้า กระบอกใส่น้ำ ขวดซอส แก้วโยเกิร์ต ขวดบรรจุยา สามารถนำมารีไซเคิล เป็นกล่องแบตเตอรี่ในรถยนต์ ไม้กวาด พลาสติก แปรง ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น กันชน ไฟท้าย

6) โพลิสไตรีน (PS) ใช้ทำภาชนะบรรจุของใช้ เช่น เทปเพลง สำลี หรือของแห้ง เช่น หมูแผ่น หมูหย็อง และโฟมใส่อาหาร สามารถนำมารีไซเคิลเป็นไม้แขวนเสื้อ ไม้บรรทัด แผงสวิตช์ไฟ ฉนวนกันความร้อน

7) พลาสติกชนิดอื่นๆ (OTHER) นอกจาก 6 ชนิดข้างต้น หรือผลิตจากพลาสติกหลายชนิด เช่น ไนลอน


ขยะประเภทอื่นๆ

ขยะอื่นๆ ที่ขายได้ เช่น ที่นอนนุ่น โดยนุ่นเก่าปั่นแล้วได้เนื้อ 80% ขณะที่ นุ่นใหม่ปั่นแล้วได้เนื้อ 40% น้ำมันพืช เก่า ที่ราคาสูงตามราคาน้ำมัน เพราะนำไป ผลิตไบโอดีเซล (ปี๊บละ 200 บาท ขายพร้อมปี๊บเก่า) กากมะพร้าว เนื้อมะพร้าว และโฟม

"ในบ้านหลังหนึ่งมีขยะมากกว่า 1,400 ชนิด ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้" สมไทย กล่าวและบอกว่า วงษ์พาณิชย์จัดทำ "คู่มือคัดแยกขยะประจำบ้าน" เพื่อช่วย ให้จัดการกับขยะภายในบ้านด้วยมือของเราเองได้ง่ายๆ

สมไทย บอกว่า หลักการคัดแยกขยะ ที่ง่ายที่สุด คือ "มาอย่างไร ไปอย่างนั้น ตอนซื้อใส่ถุงมาก็ใส่ถุงไปขาย ซึ่งควรจะเป็นถุงใสดีที่สุด เพราะมองเห็นได้ว่าข้างในมีอะไร แถมถุงใสๆ ยังขายได้อีก"

"การจัดเก็บต้องให้แคบ ให้แบน ขวดพลาสติกคลายฝาออก บีบให้แบน กระดาษมัดใส่หีบห่อ ไม่เกะกะ กล่องนมต้องเอาหลอดออก ล้างน้ำ จะได้ไม่บูดเน่า" สมไทย แนะนำ

เพียงแค่รู้จักการคัดแยกขยะก็สามารถเพิ่มมูลค่าขยะได้ด้วย สมไทย บอกว่า "พลาสติกรวม ราคากิโลกรัมละ 12 บาท ถ้าแยกขวดน้ำขาวขุ่นออกมาขายได้ กิโลกรัมละ 30 บาท กระดาษสมุดใช้แล้วขายรวมๆ ได้กิโลกรัมละ 3 บาท แต่เอาปกออกแยกขายกระดาษขาวได้กิโลกรัมละ 7 บาท"

ขยะแต่ละชนิดราคารับซื้อเท่าไร สมไทย บอกว่า เข้าไปตรวจสอบราคาเบื้องต้นได้จากเว็บไซต์ wongpanit.com ซึ่งแม้ว่าจะเป็นราคารับซื้อใน จ.พิษณุโลก แต่สามารถใช้เป็นราคากลางอ้างอิงได้ โดยราคารับซื้อในกรุงเทพฯ จะสูงกว่าราคากลางเล็กน้อย

"ราคาในกรุงเทพฯ จะสูงที่สุด จังหวัดยิ่งไกลกรุงเทพฯ ยิ่งราคาถูก เพราะศูนย์กลางตลาดอยู่ในกรุงเทพฯ ยิ่งอยู่ไกลยิ่งมีค่าขนส่งสูง" สมไทย กล่าว

ตัวอย่างเช่น ราคากระดาษขาว-ดำ ที่วงษ์พาณิชย์ สาขาสุวรรณภูมิ ราคา กิโลกรัมละ 8.8 บาท แต่วงษ์พาณิชย์ ที่พิษณุโลก ราคากิโลกรัมละ 7.8 บาท อะลูมิเนียมกระป๋อง ที่สุวรรณภูมิ ราคา กิโลกรัมละ 54 บาท ที่พิษณุโลก ราคา กิโลกรัมละ 49 บาท และพลาสติก PET ใส ที่สุวรรณภูมิ ราคากิโลกรัมละ 19.50 บาท ที่พิษณุโลก ราคากิโลกรัมละ 15 บาท

งานง่ายๆ ได้เงิน แถมช่วยลดโลกร้อน แค่นี้ก็เท่แล้ว



http://www.aksorn.com/article/article_detail.php?content_id=502


ที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/212876?page=1